คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการสำรวจผลกระทบต่อสุขภาพจากการใช้สารเคมีการเกษตร - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2551 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=26)
+--- เรื่อง: การมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการสำรวจผลกระทบต่อสุขภาพจากการใช้สารเคมีการเกษตร (/showthread.php?tid=1496)



การมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการสำรวจผลกระทบต่อสุขภาพจากการใช้สารเคมีการเกษตร - doa - 08-02-2016

การมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการสำรวจผลกระทบต่อสุขภาพจากการใช้สารเคมีการเกษตร
อรัญญา ภู่วิไล, อารดา มาสริ และจันทนา ใจจิตร
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5, ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท

          การมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการสำรวจผลกระทบต่อสุขภาพจากการใช้สารเคมีการเกษตรในตำบลสุขเดือนห้า จังหวัดชัยนาท ตำบลปากน้ำ จังหวัดสุพรรณบุรี และตำบลบ้านแห จังหวัดอ่างทอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทราบสถานการณ์การใช้สารเคมี ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอันตราย อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับสุขภาพ และให้ชุมชนช่วยกันหาวิธีลดอันตรายจากการใช้สารเคมีการเกษตร ดำเนินงานระหว่างเดือนพฤษภาคม 2547-กันยายน 2548 ได้จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 224 ครัวเรือน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการสำรวจพบว่า สถานการณ์การใช้สารเคมีการเกษตรในตำบลปากน้ำ ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกมะม่วง มีการใช้ชนิดและปริมาณสารเคมีที่พ่นมากกว่าเกษตรกรในตำบลบ้านแหที่ปลูกมะเขือและเกษตรกรในตำบลสุขเดือนห้าที่ปลูกอ้อย แต่เกษตรกรในตำบลบ้านแห มีจำนวนวันพ่นสารเคมีมากที่สุด  รองลงมาเป็นเกษตรกรในตำบลปากน้ำและเกษตรกรในตำบลสุขเดือนห้า ปัจจัยความเสี่ยงที่พบได้แก่ชนิดสารเคมี ปริมาณการใช้สารเคมี การไม่สวมอุปกรณ์ป้องกันในขณะผสมและพ่นสารเคมี เกษตรกรมีพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้ร่างกายได้รับพิษจากสารเคมีมากกว่า 1 พฤติกรรม ส่วนการจัดเก็บและการกำจัดภาชนะบรรจุสารเคมีมีความเสี่ยงอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง เด็ก แหล่งน้ำกินน้ำใช้ และอาหารตามลำดับ และพบอาการผิดปกติของสุขภาพเกษตรกรในตำบลสุขเดือนห้า และตำบลปากน้ำในระดับปานกลางมากที่สุด  ต่างจากในตำบลบ้านแหที่พบอาการผิดปกติในระดับเล็กน้อยมากที่สุด แต่ละชุมชนได้ร่วมกันหาวิธีการลดอันตรายจากการใช้สารเคมีการเกษตร ได้แก่ 1) ดูชื่อสามัญในซื้อสารเคมี 2) เลือกใช้สารเคมีที่มีระดับความเป็นพิษต่อมนุษย์น้อยที่สุด 3) ลดการพ่นสารเคมีฟุ่มเฟือย 4) สวมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายในขณะผสมสารเคมี และ 5) การใช้พืชสมุนไพรทดแทนสารเคมีการเกษตร