เดินหน้าค้นคว้าพืชท้องถิ่นของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 จังหวัดอุบลราชธานี - printable_version +- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research) +-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1) +--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2558 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=28) +--- เรื่อง: เดินหน้าค้นคว้าพืชท้องถิ่นของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 จังหวัดอุบลราชธานี (/showthread.php?tid=1460) |
เดินหน้าค้นคว้าพืชท้องถิ่นของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 จังหวัดอุบลราชธานี - doa - 08-02-2016 เดินหน้าค้นคว้าพืชท้องถิ่นของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 จังหวัดอุบลราชธานี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 ทำงานวิจัยและพัฒนาการผลิตในพืชท้องถิ่นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้แก่ หอมแดง มันแกว ผักขะแยง ผักหวานบ้าน น้อยหน่า และมะขามเทศ ซึ่งผลการวิจัยสามารถถ่ายทอดได้ยกเว้นมะขามเทศที่รวบรวมพันธุ์ดี แต่หอมแดงสามารถเชื่อมโยงการวิจัยกับผู้ประกอบการที่ต้องการสินค้าปลอดภัยได้มาตรฐาน GAP รวมถึงเกษตรกรได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตหอมแดงคุณภาพที่ได้มาตรฐาน GAP และสามารถทวนสอบย้อนกลับได้ด้วยระบบ QR Code ทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจทั้งในและต่างประเทศ ดังแนวความคิด “จากผลงานวิจัย สู่อาหารปลอดภัย ก้าวไกลสู่ตลาดสากล”
หอมแดง (shallot: Allium ascalonicum Linn.) เป็นพืชในวง Maryllidaceae ชื่อ shallot เป็นพืชได้รับความนิยมในการบริโภคมาก เห็นได้จากทุกครัวไทยจะต้องมีหอมแดงเตรียมไว้เสมอ เนื่องจากเป็นองค์ประกอบสำคัญของอาหารไทยแทบทุกชนิด ทั้งประเภทแกงเผ็ด แกงเลียง ต้มยำ หลน ยำ ลาบ น้ำพริกต่างๆ เครื่องเคียงข้าวซอย หรือในขนมหวาน ด้วยเพราะเหตุผลที่หอมแดงช่วยดับกลิ่นคาว เพิ่มรสชาติของอาหาร จังหวัดศรีสะเกษ เป็นแหล่งปลูกหอมแดงมากที่สุดในประเทศไทย มีชื่อเสียงจนเรียกกันติดปากว่า “หอมแดงศรีสะเกษ” มีคุณลักษณะพิเศษคือเปลือกมีสีแดงเข้ม ด้านในมีสีม่วง กลิ่นฉุนแรงเก็บรักษาได้ยาวนาน เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศที่นิยมอาหารไทย เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย จีน ปี 2558 มีพื้นที่ปลูกรวม 25,670 ไร่ แหล่งปลูกที่สำคัญอยู่ในตำบลหนองหมี ส้มป่อย และสร้างปี่ อำเภอราศีไศล รองลงมาคืออำเภอยางชุมน้อย ผลผลิตรวมทั้งจังหวัด 75,015 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 2,548 กิโลกรัม/ไร่ (สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ, 2559) การปลูกหอมแดงจะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือเดือนเมษายน-พฤษภาคม (หอมต่าว) เพื่อผลิตหัวพันธุ์ และเดือนตุลาคม-มกราคม (หอมปี) เพื่อเก็บผลผลิตในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ส่วนมากนำหัวพันธุ์หอมแดงมาจากที่อื่น ทำให้เสี่ยงต่อการระบาดของโรคหอมเลื้อยที่เกิดจากเชื้อรา (Colletotrichum gloeosporioides (Penz) Sacc) ซึ่งเชื้อโรคติดมากับหัวพันธุ์ มาระบาดในแปลงปลูก ทำให้ผลผลิตเสียหายถึง 50% (กรมวิชาการเกษตร, 2552) นอกจากนี้ผลผลิตไม่ได้คุณภาพและเน่าเสียง่าย เก็บได้ไม่นาน นอกจากนี้เกษตรกรประสบปัญหาการระบาดของหนอนกระทู้หอม (Spodoptera exigua (Hubner) การใส่ปุ๋ยเคมีมาก ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูง ดินเป็นกรด สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 จึงพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตหอมแดงคุณภาพในพื้นที่ อำเภอราษีไศล อำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ ในปี 2554 - 2558 โดยเก็บเศษซากหอมแดงออกจากพื้นที่ปลูกและเผาทำลาย ไถตากดิน 2 - 3 ครั้ง หว่านปอเทือง อัตรา 5 กิโลกรัม/ไร่ ไถกลบทิ้งไว้ 15 วัน หว่านปูนโดโลไมท์ตามค่าวิเคราะห์ดิน ไถกลบทิ้งไว้ 14 วัน ก่อนปลูกหอมใส่ปุ๋ยหมักเชื้อไตรโครเดอร์มาสดอัตรา 500 กิโลกรัม /ไร่ ไถพรวนคลุกเคล้าให้เข้ากับดิน ก่อนปลูกแช่หัวพันธุ์หอมแดงด้วยเชื้อไตรโคเดอร์มาสด อัตรา 1 กิโลกรัม/น้ำ 200 ลิตรนาน 30 นาที ระยะปลูก 16 x 16 เซนติเมตร คลุมฟางหลังปลูก หลังปลูก 15 วันใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 33 กิโลกรัม/ไร่ หลังปลูก 30 วัน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 อัตรา 22 กิโลกรัม/ไร่ โดยวิธีหว่านให้ทั่วแปลง แต่หอมพันธุ์จะไม่ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 การป้องกันกำจัดศัตรูพืช ใช้สารชีวินทรีย์พ่นเชื้อไตรโครเดอร์มา 1 กก./น้ำ 200 ลิตร ทุก 2 สัปดาห์ ติดกับดักกากน้ำตาล พ่น Bacillus thuringiensis (บีที) และพ่นสารเคมีตามคำแนะนำกรมวิชาการเกษตร เด็ดดอกหอมในระยะแรกของการออกดอก เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 80 - 85 วัน พบว่าในปี 2554 - 2555 ลดโรคหอมเลื้อยได้ 22.9% (ตารางที่ 1) ในปี 2556 - 2557 แนะนำให้เกษตรกรผลิตหัวพันธุ์หอมแดงสะอาดปลอดโรคหอมเลื้อยใช้เองจึงไม่พบโรคหอมเลื้อยในหอมพันธุ์และหอมปี ผลผลิตมากกว่าวิธีเกษตรกรร้อยละ 18.8 เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.8 หัวหอมมีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่าวิธีเกษตรกรร้อยละ 14.2 (ตารางที่ 2) ได้อบรมเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ และขยายผลเทคโนโลยีไปในพื้นที่อำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร รวม 200 ไร่ ในปี 2558 สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 ได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตหอมแดงคุณภาพจังหวัดศรีสะเกษผ่านเกษตรกรต้นแบบในพื้นที่ ตำบลหนองหมี อำเภอราศีไศล จำนวน 17 ราย ในปี 2559 ขยายผลเทคโนโลยีการผลิตหอมแดงคุณภาพสู่การนำไปใช้ประโยชน์ให้คลอบคลุมพื้นที่แหล่งปลูก อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 100 ราย โดยร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบล และผู้ประกอบการรวบรวมผลผลิต ร่วมจัดทำแปลงต้นแบบการผลิตหอมแดงแปลงใหญ่เพื่อให้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเกษตรกรกับนักวิจัยและผู้ประกอบการ ให้สามารถนำเทคโนโลยีการผลิตหอมแดงจากแปลงต้นแบบไปปรับใช้ และจัดระบบฐานข้อมูลผู้ผลิตหอมแดงคุณภาพ ให้เป็นมาตรฐานและยอมรับในระดับสากลโดยใช้รหัส QR Code ประกอบด้วยข้อมูลของเกษตรกรผู้ผลิต การรับรองการขึ้นทะเบียน GAP ระบบควบคุมศัตรูพืชในหอมแดง เทคโนโลยีการจัดการให้ปราศจากศัตรูพืชในพื้นที่ผลิต โรงรวบรวมและคัดบรรจุหอมแดง (ภาพที่ 1) ทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับไปยังเกษตรกรผู้ผลิตได้จะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ซื้อและเพิ่มมูลค่าหอมแดงศรีสะเกษ จำนวน 50 แปลง และให้ความร่วมมือกับสภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษที่จะสร้างรหัส QR Codeของหอมแดงและกระเทียมซึ่งป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดศรีสะเกษ
|