คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การพัฒนาการผลิตลิ้นจี่พันธุ์นครพนม 1 - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2558 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=28)
+--- เรื่อง: การพัฒนาการผลิตลิ้นจี่พันธุ์นครพนม 1 (/showthread.php?tid=1457)



การพัฒนาการผลิตลิ้นจี่พันธุ์นครพนม 1 - doa - 08-02-2016

การพัฒนาการผลิตลิ้นจี่พันธุ์นครพนม 1 
ชำนาญ กสิบาล, นิยม ไข่มุกข์, ปัญจพล สิริสุวรรณมา, มะนิต สะรุณา, นฤทัย วรสถิตย์ และนิรันดร์ สุขจันทร์

          ลิ้นจี่เป็นไม้ผลเขตกึ่งร้อนที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย  พันธุ์ที่ปลูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มพันธุ์เบา  คือกลุ่มพันธุ์ที่ต้องการความหนาวเย็นไม่ค่อยมากและหนาวเย็นไม่นานก็สามารถชักนำให้ออกดอกได้  เก็บเกี่ยวผลผลิตปลายเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายน  มีข้อได้เปรียบคือให้ผลผลิตเร็วในช่วงที่ผลผลิตออกน้อยทำให้ขายได้ราคาสูง  2) กลุ่มพันธุ์ที่ต้องการความหนาวเย็นมากและยาวนานในการกระตุ้นการออกดอก  ให้ผลผลิตในช่วงเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม ปลูกมากทางภาคเหนือ (กรมวิชาการเกษตร, 2552) สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณพื้นที่ติดแม่น้ำโขงดินมีความอุดมสมบูรณ์ และสภาพอากาศหนาวเย็นที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตของลิ้นจี่ โดยเฉพาะจังหวัดนครพนมมีปริมาณน้ำฝนน้อยในช่วงปลายฤดูฝน คือ ไม่เกิน 60-80 มิลลิเมตร และอุณหภูมิหนาวเย็นในช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์อุณหภูมิต่ำสุดน้อยกว่า 20 องศาเซลเซียส  อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส จากการศึกษาการปลูกลิ้นจี่ในพื้นที่พบว่าพันธุ์เบาคือพันธุ์ค่อมสามารถให้ผลผลิตได้แต่ให้ผลขนาดเล็กและมีรสฝาดปน  ส่วนพันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้าคือ พันธุ์ฮงฮวยให้ผลผลิตเป็นบางปี  และต้องควั่นกิ่งเพื่อกระตุ้นการออกดอก ผลผลิตด้อยคุณภาพมีปัญหาเรื่องผลแตกและเปลือกผลแห้งสีน้ำตาล  ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนมจึงพัฒนาพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงและเหมาะสมกับพื้นที่ สำหรับเป็นทางเลือกให้เกษตรกรในการสร้างอาชีพและรายได้เสริม