คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับดาหลาในเชิงพาณิชย์ด้วยการสกัดเส้นใยจากลำต้นดาหลา - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2558 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=28)
+--- เรื่อง: การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับดาหลาในเชิงพาณิชย์ด้วยการสกัดเส้นใยจากลำต้นดาหลา (/showthread.php?tid=1444)



การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับดาหลาในเชิงพาณิชย์ด้วยการสกัดเส้นใยจากลำต้นดาหลา - doa - 07-12-2016

การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับดาหลาในเชิงพาณิชย์ด้วยการสกัดเส้นใยจากลำต้นดาหลาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการทอผ้า ในจังหวัดนราธิวาส
ดาริกา ดาวจันอัด, อนันต์ อักษรศรี, นลินี จาริกภากร, ธัชธาวินท์ สะรุโณ, สุนันท์ ถีราวุฒิ, ฉัตรชัย กิตติไพศาล, วิภาลัย พุตจันทึก, สุนีย์ สันหมุด และเอมอร เพชรทอง
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรรือเสาะ, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนราธิวาส

          ดาหลาเป็นพืชที่มีศักยภาพในการผลิตเส้นใยเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมสิ่งทอวัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยนี้เพื่อพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเส้นใยดาหลาจากส่วนของลำต้นเพื่อเพิ่มมูลค่าสู่เกษตรกรในจังหวัดนราธิวาส จึงได้ดำเนินการวิจัยที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรรือเสาะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ระหว่างปี พ.ศ. 2554 - 2558 ประกอบด้วย 3 กิจกรรม คือ การสำรวจข้อมูลพืชที่มีศักยภาพในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส การพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปดาหลาด้วยการสกัดเส้นใยเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการทอผ้า และการขยายผลงานวิจัยเทคโนโลยีการผลิตเส้นใยดาหลาสู่เกษตรกร ผลการทดลองพบว่า ดาหลาเป็นพืชที่มีศักยภาพสำหรับการเพิ่มมูลค่าและมีความเหมาะสมที่จะส่งเสริมแก่เกษตรกรในจังหวัดนราธิวาส โดยใช้ส่วนของลำต้นดาหลา ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการผลิตเส้นใยธรรมชาติเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมทอผ้า สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเส้นใยดาหลาพบว่า การใช้ส่วนของลำต้นดาหลาแช่ในสารสกัดเส้นใยเป็นระยะเวลา 6 วัน เป็นวิธีที่เหมาะสม เนื่องจากได้เส้นใยที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับความต้องการของการผลิตผ้า จากเส้นใยธรรมชาติและการใช้เส้นใยจากส่วนแกนในของลำต้นดาหลาเป็นวิธีที่เหมาะสม เนื่องจากมีลักษณะของเส้นใยที่อ่อนนุ่มตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ จากนั้นได้นำเทคโนโลยีการผลิตเส้นใยดาหลาที่ได้จากการวิจัยไปขยายผลสู่เกษตรกรในรูปแบบของการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยเกษตรกรต้นแบบที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วได้รวมกลุ่มกันและจัดต้ังเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกดาหลาเพื่อตัดต้นจำหน่าย และกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเส้นใยดาหลา เพื่อจำหน่ายเส้นใยให้กับผู้ประกอบการ โดยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการทอผ้าได้นำเส้นใยดาหลาไปใช้ในการผลิตผ้าทอจากเส้นใยธรรมชาติที่มีส่วนผสมของเส้นใยดาหลา เป็นการช่วยสร้างเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์สิ่งทอของประเทศไทย สามารถส่งออกยังต่างประเทศได้ในราคาที่สูงขึ้นต่อไป