คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
วิจัยปริมาณสารพิษตกค้างของ Lambda-cyhalothrin ในมะม่วง - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2551 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=26)
+--- เรื่อง: วิจัยปริมาณสารพิษตกค้างของ Lambda-cyhalothrin ในมะม่วง (/showthread.php?tid=1406)



วิจัยปริมาณสารพิษตกค้างของ Lambda-cyhalothrin ในมะม่วง - doa - 06-30-2016

วิจัยปริมาณสารพิษตกค้างของ Lambda-cyhalothrin ในมะม่วงเพื่อกำหนดค่าปริมาณสูงสุดของสารมีพิษตกค้าง (MRLs) ครั้งที่ 6
ศศิมา มั่งนิมิตร์, ลักษมี เดชานุรักษ์นุกูล และวิทยา บัวศรี

          ศึกษาการสลายตัวของ Lambda cyhalothrin (L-cyhalothrin) ในมะม่วงน้ำดอกไม้เพื่อกำหนดกำหนดค่าปริมาณสูงสุดของสารพิษตกค้างครั้งที่ 6 ทำการทดลองที่ อ.เมือง จ.ราชบุรี ระหว่างเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2551 แบ่งการทดลองเป็น 2 การทดลองคือ การทดลองที่1 ฉีดพ่นสาร แลมบ์ดาไซฮาโลธริน 2.5% EC อัตราแนะนำคือ 10ml/น้ำ 20 L และการทดลองที่ 2 ไม่มีการฉีดพ่นวัตถุมีพิษเป็นแปลงเปรียบเทียบ ฉีดพ่นวัตถุมีพิษก่อนระยะเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณ 1 เดือน โดยฉีดพ่น L-cyhalothrin 7 วัน/ครั้ง รวม 4 ครั้ง ทำการสุ่มเก็บตัวอย่างที่ระยะเวลาต่างๆ กันคือ 0, 1, 3, 5, 7, 10 และ 14 วัน หลังการฉีดพ่นวัตถุมีพิษครั้งสุดท้าย เพื่อตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างปริมาณสารพิษตกค้างของ L-cyhalothrin ในมะม่วงน้ำดอกไม้

          พบว่าเมื่อใช้สารในอัตราแนะนำ พบปริมาณสารตกค้าง ดังนี้ 0.15, 0.12, 0.03, 0.03, 0.02, 0.01 และ 0.01 mg/kg ตามลำดับ ส่วนแปลง control ซึ่งไม่มีการฉีดพ่นสาร L-cyhalothrin ตรวจไม่พบสารตกค้างในทุกตัวอย่าง เนื่องจาก FAO/WHO ยังไม่ได้กำหนดค่า Codex MRL ของ L-cyhalothrin ในมะม่วง แต่มีบางประเทศที่กำหนดค่า เช่น ประเทศญี่ปุ่นกำหนด MRL ของ L-cyhalothrin ในมะม่วงเท่ากับ 0.5 mg/kg หรือในกลุ่มสหภาพยุโรปที่กำหนดค่า EU-MRL ของ L-cyhalothrin ในมะม่วงที่ระดับ 0.02 mg/kg สำหรับประเทศไทยหน่วยงานสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและมาตรฐานแห่งชาติ (มกอช) ได้กำหนดค่า MRL ของ L-cyhalothrin ในมะม่วงเท่ากับ 0.1 mg/kg การศึกษาปริมาณสารพิษตกค้างเพื่อกำหนดค่าปริมาณสูงสุดเพื่อจัดทำข้อมูลเสนอ Codex ประกอบการพิจารณากำหนดค่า MRL จำเป็นต้องทำการทดลองซ้ำอย่างน้อย 6 ครั้งซึ่งได้รวบรวมข้อมูลการทดลองสิ้นสุดทั้ง 6 ครั้ง เสนอ Codex เพื่อพิจารณากำหนดค่า L-cyhalothrin ในมะม่วงต่อไป

          นอกจากนี้การสำรวจตัวอย่างมะม่วงจากแหล่งผลิตแหล่งจำหน่ายและโรงคัดบรรจุในจังหวัดต่างๆ รวม 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ปราจีนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม และนครนายก จำนวน 53 ตัวอย่าง ตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างรวม 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต กลุ่มออร์กาโนคลอรีน กลุ่มไพรีทรอยด์ และกลุ่มสารป้องกันกำจัดเชื้อรา ผลการตรวจวิเคราะห์ไม่พบสารพิษตกค้างในทุกตัวอย่าง