คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การพัฒนาวิธีการวิเคราะห์สารพิษตกค้าง Chlorothalonil ในผักผลไม้ - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2551 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=26)
+--- เรื่อง: การพัฒนาวิธีการวิเคราะห์สารพิษตกค้าง Chlorothalonil ในผักผลไม้ (/showthread.php?tid=1371)



การพัฒนาวิธีการวิเคราะห์สารพิษตกค้าง Chlorothalonil ในผักผลไม้ - doa - 06-29-2016

การพัฒนาวิธีการวิเคราะห์สารพิษตกค้าง Chlorothalonil ในผักผลไม้
ยงยุทธ ไผ่แก้ว และประภัสสรา พิมพ์พันธุ์
     
          Chlorothalonil เป็น Fungicide ชนิดหนึ่งที่นิยมใช้กันทั่วโลกโดยเฉพาะใน USA และ EU และมีการใช้ในประเทศไทยด้วย การวิเคราะห์สารพิษตกค้างชนิดนี้สามารถวิเคราะห์ได้ด้วยเครื่องมือหลายชนิด แต่ที่ให้ผลการวิเคราะห์ที่ดีคือ GC-ECD แต่ต้องทดสอบประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ด้วยวิธีต่างๆ ในตัวอย่างพืชผักผลไม้ที่มีเนื้อตัวอย่าง (matrix) แตกต่างกัน โดยเลือกพืชที่จะทดสอบ 7 ชนิด ได้แก่ มะเขือเทศ ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว แครอท มะม่วง และส้ม ทำการทดสอบโดยวิธีการต่างๆ ได้แก่ TM-T04-R03-กวพ ที่ได้รับการรับรองตาม ISO/IEC17025 ของกลุ่มงานวิจัยสารพิษตกค้าง กลุ่มวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตร สปผ. และทดสอบวิธีการของ Ambrus (1999) Stensvand (2000) Putnam (2003) และ Gambacorta (2005) พบว่า ประสิทธิภาพของการ

         วิเคราะห์ Chlorothalonil ที่ระดับ 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในพืช 7 ชนิด ทั้งด้วยวิธีการ TM-T04-R03-กวพ อยู่ในช่วงร้อยละ 0 - 40 เมื่อทดสอบด้วยวิธีการอื่นๆ พบว่า ปริมาณสารที่ได้กลับคืนมีเพียงร้อยละ 55, 50, 55 และ 45 ตามลำดับ เท่านั้น ทั้งนี้เพราะสารพิษชนิดนี้มีการสลายตัวไปเป็นเมตาโบไลท์ที่สามารถละลายน้ำได้ เช่น สลายตัวให้สารประกอบในรูปของสารประกอบไนไตรต์ และไฮดรอกซีไอออน การสกัดด้วยตัวทำละลายอินทรีย์ที่ใช้วิธีการ TM-T04-R03-กวพ ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการสารพิษตกค้าง จึงให้ประสิทธิภาพต่ำ อย่างไรก็ตาม วิธีการวิเคราะห์จากเอกสารวิจัยได้แสดงประสิทธิภาพไว้สูงถึงร้อยละ 72-109 เมื่อทดสอบแล้วพบว่าประสิทธิภาพการวิเคราะห์ยังต่ำกว่าในเอกสาร และวิธีสกัดที่ให้ประสิทธิภาพการวิเคราะห์ที่ดี ยังมีขั้นตอนที่มากเกินไปสำหรับการตรวจวิเคราะห์ประจำวัน จึงต้องมีการพัฒนาหาวิธีการที่สั้นและง่ายแก่การปฏิบัติต่อไป โดยได้เสนองานวิจัยต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2552 เพื่อดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อสร้างมาตรฐานและความน่าเชื่อถือ ให้กับงานบริการวิเคราะห์สารพิษตกค้างในพืชของกรมวิชาการเกษตร