อิทธิพลของการห่อผลต่อการพัฒนาสี คุณภาพของผลและศัตรูของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้เบอร์สี่ - printable_version +- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research) +-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1) +--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2551 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=26) +--- เรื่อง: อิทธิพลของการห่อผลต่อการพัฒนาสี คุณภาพของผลและศัตรูของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้เบอร์สี่ (/showthread.php?tid=1305) |
อิทธิพลของการห่อผลต่อการพัฒนาสี คุณภาพของผลและศัตรูของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้เบอร์สี่ - doa - 06-28-2016 อิทธิพลของการห่อผลต่อการพัฒนาสี คุณภาพของผลและศัตรูของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้เบอร์สี่ ชูชาติ วัฒนวรรณ, อรุณี วัฒนวรรณ, สุภัทรา เลิศวัฒนาเกียรติ, จงรักษ์ จารุเนตร, เฉลิมพล ชุ่มเชยวงศ์ และพเยาว์ ร่มรื่นสุขารมย์ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี, สถาบันวิจัยพืชสวน, ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตปราจีนบุรี และศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา การศึกษาอิทธิพลของการห่อผลต่อการพัฒนาสี คุณภาพของผล โรคและแมลงศัตรูของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้เบอร์สี่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาชนิดของถุงห่อและระยะเวลาที่เหมาะสมในการห่อผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้เบอร์สี่ และผลกระทบของวัสดุห่อผลต่อการเจริญเติบโตและคุณภาพของผล ทำการทดลองที่แปลงเกษตรกร อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2547 - ธันวาคม 2551 โดยทำการห่อผลด้วยถุงกระดาษสองชั้น (ชั้นในสีดำ) 3 ชนิดคือ ถุงกระดาษสองชั้น ชั้นนอกสีน้ำตาลเคลือบมันชั้นนอกสีน้ำตาล และชั้นนอกสีขาว ถุงกระดาษชั้นเดียว 2 ชนิดคือ ถุงกระดาษหนังสือพิมพ์ และถุงกระดาษสีเหลืองทอง เปรียบเทียบกับการไม่ห่อถุง (control) พบว่าการห่อผลทำให้คุณภาพของผลมะม่วงดีขึ้น โดยระยะเวลาที่เหมาะสม คือ ห่อผลเมื่ออายุผล 40 - 60 วันหลังดอกบาน ซึ่งสามารถทำให้ผลมีการพัฒนาสีได้ดี โดยไม่มีผลต่อการเข้าทำลายของโรคแอนแทรคโนส และโรคขั้วผลเน่า สามารถลดการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟ และแมลงวันผลไม้ได้ แต่ไม่สามารถลดการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้ง และพบว่าการห่อด้วยถุงสองชั้น (ชั้นในสีดำ) ชั้นนอกสีน้ำตาล ผลมะม่วงมีน้ำหนักมาก การพัฒนาสีเปลือกดีที่สุด ทำให้เมื่อสุกมีผิวสีเหลืองส้มสวยสะดุดตา ในขณะที่คุณภาพเนื้อภายในผลไม่แตกต่างจากกรรมวิธีอื่น สำหรับการเข้าทำลายของโรคหลังการเก็บเกี่ยวพบว่า ระดับความรุนแรงอยู่ในช่วงที่ยอมรับได้ และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้งแนะนำให้การทารอบโคนต้นมะม่วงด้วยกาวเหนียว ซึ่งสามารถลดการเคลื่อนย้ายของมดที่เป็นพาหะของเพลี้ยแป้ง จึงสามารถลดระดับความรุนแรงในพื้นที่ที่มีการระบาดของเพลี้ยแป้งได้
|