คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การป้องกันกำจัดผีเสื้อมวนหวานในสวนลองกองโดยใช้กรงกับดัก - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2551 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=26)
+--- เรื่อง: การป้องกันกำจัดผีเสื้อมวนหวานในสวนลองกองโดยใช้กรงกับดัก (/showthread.php?tid=1298)



การป้องกันกำจัดผีเสื้อมวนหวานในสวนลองกองโดยใช้กรงกับดัก - doa - 06-28-2016

การป้องกันกำจัดผีเสื้อมวนหวานในสวนลองกองโดยใช้กรงกับดัก
บุญแถม ถาคำฟู, กฤชพร ศรีสังข์, จตุรภัทร รัตนวิสาลนนท์, นิสิต บุญเพ็ง, บุญเลิศ สะอาดสิทธิศักดิ์, อรสา ยงยุทธวิชัย, กุลธิดา ดอนอยู่ไพร ณัฐ เทศัชบุตร 
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก

          ผีเสื้อมวนหวานเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญชนิดหนึ่งของลองกอง ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดใหญ่ทำลายผลลองกองโดยใช้งวงปากที่แข็งเจาะดูดกินน้ำหวานในผลลองกองสุก ลักษณะการทำลายมีรอยเป็นวงสีน้ำตาล ต่อมามีน้ำเยิ้มออกมาบริเวณรอยเจาะ ส่งผลให้เกิด abscission layer บริเวณขั้วผล ทำให้ผลลองกองเน่าและร่วงหล่นลงดินเก็บผลผลิตไม่ได้  การใช้กรงกับดักเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถกำจัดผีเสื้อมวนหวานได้ การทดลองครั้งนี้ได้พัฒนากรงกับดัก จากแบบวางพื้นขนาด 50 X 50 X 50 ซม. (กว้าง X ยาว X สูง) พบว่า ผีเสื้อเข้าไปกินเหยื่อและบินย้อนกลับออกด้านกรวยทางเข้าได้ มีผีเสื้อเข้ากรงน้อยและไม่สะดวกในการใช้งาน ได้ปรับปรุงเป็นแบบใช้แขวน ขนาด 35 X 40 ซม. (เส้นผ่าศูนย์กลาง X สูง) พบผีเสื้อย้อนออกทางเข้าได้และไม่สะดวกในการใช้งานจึงปรับเปลี่ยนเป็นกรงขนาดเล็กลง 15 X 25 ซม. (เส้นผ่าศูนย์กลาง X สูง) ส่วนปลายของกรวยทางเข้ามีฝาปิดแบบหลวมๆ ให้ผีเสื้อดันเข้าไปได้แต่ดันออกไม่ได้ เป็นสิ่งประดิษฐ์คิดค้นใหม่ โดยปรับโครงสร้างให้สามารถพับยุบได้เพื่อสะดวกในการเก็บให้ไม่เปลืองที่เก็บ วางแผนการทดลองแบบ Randomized Complete Block มี 3 ซ้ำ 5 วิธีการ ประกอบด้วย ระดับความสูง 1.5 2.5 และ 3.5 เมตร ดำเนินการที่สวนลองกองของเกษตรกร 2 ราย ห่างกันประมาณ 5 กม. ผลการทดลองทั้งสองสวนเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ จำนวนผีเสื้อมวนหวานที่เข้ากรงกับดักมากที่สุด เป็นกรงกับดักวางไว้ระดับ 2.5 เมตร ซึ่งแตกต่างกับทางสถิติกับกรงที่ระดับ 1.5 และ 3.5 เมตร โดยที่จำนวนผีเสื้อมวนหวานเฉลี่ยวันแรก (10 วันก่อนเก็บเกี่ยว) 3 ตัว/กรง ทั้ง 2 แปลง รองลงมาคือ กรงกับดักระดับ 1.5 เมตร มีจำนวนเฉลี่ย 1.8 ตัว/กรง ในแปลงที่ 1 และ 2 ตัว/กรง ในแปลงที่สอง จำนวนผีเสื้อมวนหวานเฉลี่ยสูงสุดในกรงกับดักวันที่ 6 (5 วันก่อนการเก็บเกี่ยว) ที่ระยะ 2.5 เมตร เฉลี่ย 3.6 ตัว/กรง ในแปลงที่ 1 3.2 ตัว/กรง ในแปลงที่ 2 รองลงมา คือที่ระดับ 1.5 เมตร มีผีเสื้อมวนหวานเข้ากรงเฉลี่ย 2.2 ตัว/กรง ในแปลงที่ 1 และ 2.4 ตัว/กรง ในแปลงที่ 2 หลังจากนั้นผีเสื้อมวนหวานเข้ากรงน้อยลง จนกระทั่งหลังวันเก็บเกี่ยวมีผีเสื้อมวนหวานเข้ากรงเฉลี่ยที่ระดับ 2.5 เมตร 1 ตัว/กรง ในแปลงที่ 1 และ 0.8 ตัว/กรง ในแปลงที่ 2 ส่วนที่ระดับ 1.5 เมตร ผีเสื้อมวนหวานเฉลี่ย 0.3 ตัว/กรง ในแปลงที่ 1 และ 0.4 ตัว/กรง ในแปลงที่ 2 ส่วนที่ระดับ 3.5 เมตร ไม่มีผีเสื้อเข้ากรงกับดักเลย