คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
กลไกความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงในหนอนใยผัก (diamondback moth, Plutella xylostella (L.)) - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2556 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=6)
+--- เรื่อง: กลไกความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงในหนอนใยผัก (diamondback moth, Plutella xylostella (L.)) (/showthread.php?tid=1225)



กลไกความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงในหนอนใยผัก (diamondback moth, Plutella xylostella (L.)) - doa - 05-19-2016

กลไกความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงในหนอนใยผัก (diamondback moth, Plutella xylostella (L.))
สุภราดา สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง, สมศักดิ์ ศิริพลตั้งมั่น, พวงผกา อ่างมณี และวนาพร วงษ์นิคง
กลุ่มบริหารศัตรูพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช


          การทราบกลไกความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงแต่ละชนิดจะช่วยในการตัดสินใจเลือกชนิดสารฆ่าแมลงเพื่อใช้ในแผนการใช้สารฆ่าแมลงแบบหมุนเวียนกันอย่างถูกหลักการบริหารจัดการความต้านทานต่อสารฆ่าแมลง ดังนั้นจึงทำการทดลองเพื่อทราบกลไกความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงที่ใช้ในการป้องกันกำจัดหนอนใยผัก โดยการใช้สารเพิ่มประสิทธิภาพชนิดต่างๆ คือ piperonyl butoxide (PBO), triphenyl phosphate (TPP) และ diethyl maleate (DEM) ในความเข้มข้นที่เหมาะสมเพื่อยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ทำลายพิษในตัวหนอนใยผัก โดยวิธีหยดสารเพิ่มประสิทธิภาพลงบนตัวหนอนประมาณ 1 - 2 ชั่วโมงก่อนให้หนอนกินใบผักที่ชุบสารฆ่าแมลง และโดยวิธีผสมสารเพิ่มประสิทธิภาพในสารฆ่าแมลงแล้วเอาใบกะหล่ำปลีชุบให้หนอนกิน ผลการทดลองพบว่า กลไกความต้านทานของหนอนใยผักจากอำเภอบางบัวทอง ต่อสารฆ่าแมลง chlorantraniliprole น่าจะมีการเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ cytochrome P450 monooxygenases เป็นปัจจัยอย่างหนึ่ง ทั้งนี้เพราะว่าสาร PBO สามารถเพิ่มความเป็นพิษต่อสารฆ่าแมลง chlorantraniliprole ได้ กลไกความต้านทานของหนอนใยผักจากอำเภอท่าม่วงต่อสารฆ่าแมลง chlorantraniliprole, chlorfenapyr และ emamectin benzoate น่าจะมีการเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ cytochrome P450 monooxygenases เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งเช่นกัน ส่วนกลไกความต้านทานของหนอนใยผักจากอำเภอไทรน้อยต่อสารฆ่าแมลง indoxacarb น่าจะมีการเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ esterases เป็นปัจจัยอย่างหนึ่ง ทั้งนี้เพราะว่าสาร TPP สามารถเพิ่มความเป็นพิษได้