การพัฒนาระบบการผลิตและเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตสับปะรด - printable_version +- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research) +-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1) +--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2554 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=4) +--- เรื่อง: การพัฒนาระบบการผลิตและเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตสับปะรด (/showthread.php?tid=120) |
การพัฒนาระบบการผลิตและเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตสับปะรด - doa - 10-14-2015 การพัฒนาระบบการผลิตและเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตสับปะรด ศรีนวล สุราษฎร์, สาลี่ ชินสถิต, จรีรัตน์ มีพืชน์, หฤทัย แก่นลา, เกษสิริ ฉันทพิริยะพูน และอุมาพร รักษาพราหมณ์ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ดำเนินการทดลองในพื้นที่เกษตรกรจังหวัดชลบุรี เกษตรกรร่วมดำเนินการ 3 ราย พื้นที่ 12 ไร่ จังหวัดระยอง เกษตรกรร่วมดำเนินการ 3 ราย พื้นที่ 12 ไร่ ระหว่างเดือนตุลาคม 2550 - เดือนกันยายน 2553 โดยใช้เทคโนโลยีภายใต้ระบบการจัดการคุณภาพ (GAP) สับปะรด (วิธีแนะนำ) เปรียบเทียบกับวิธีปฏิบัติของเกษตรกร เพื่อทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสับปะรดคุณภาพตามระบบ GAP ในพื้นที่เกษตรกร จากการดำเนินงานพบว่า จังหวัดชลบุรี วิธีแนะนำได้ผลผลิตเฉลี่ย 7,980 กก./ไร่ ได้ผลตอบแทน 24,237.5 บาท/ไร่ วิธีเกษตรกรได้ผลผลิตเฉลี่ย 8,046 กก./ไร่ ได้ผลตอบแทน 21,370 บาท/ไร่ ผลจากการดำเนินงาน วิธีแนะนำได้ผลผลิตน้อยกว่าวิธีเกษตรกรเล็กน้อย แต่วิธีเกษตรกรเสียค่าใช้จ่ายในการลงทุนซื้อปัจจัยการผลิตมากกว่า ทำให้มีต้นทุนในการผลิตสูงกว่าและผลผลิตที่ได้ไม่แตกต่างจากวิธีแนะนำมากนัก วิธีแนะนำจึงได้ผลตอบแทนสูงกว่าวิธีเกษตรกร ส่วนที่จังหวัดระยอง วิธีแนะนำได้ผลผลิตเฉลี่ย 5,319 กก./ไร่ ได้ผลตอบแทน 16,263.5 บาท/ไร่ วิธีเกษตรกรได้ผลผลิตเฉลี่ย 4,698 กก./ไร่ ได้ผลตอบแทน 12,399 บาท/ไร่ ซึ่งผลจากการดำเนินงานนั้น วิธีแนะนำได้ผลผลิตสูงกว่าวิธีเกษตรกร และมีต้นทุนในการผลิตใกล้เคียงกัน ดังนั้นวิธีแนะนำจึงได้ผลตอบแทนสูงกว่าวิธีเกษตรกร ผลจากการดำเนินงานในพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัดพบว่า เทคโนโลยีการผลิตสับปะรดคุณภาพตามระบบ GAP ของกรมวิชาการเกษตรนั้นสามารถทำให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนสูงกว่า มีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังได้มีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ไปใช้ในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคเหี่ยวสับปะรดอีกด้วย โดยในขั้นตอนของการคัดเลือกหน่อพันธุ์หรือจุก ซึ่งนอกจากจะแนะนำให้มีการคัดเลือกหน่อพันธุ์หรือจุกให้มีขนาดเท่ากันแล้ว ยังได้มีการแนะนำให้เกษตรกรนำวัสดุปลูกดังกล่าวมาจากแปลง หรือแหล่งที่ไม่มีการระบาดของโรคเหี่ยวสับปะรด และในขั้นตอนของการชุบหน่อหรือจุกก่อนปลูกด้วยสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ทำให้สามารถลดปัญหาการเกิดโรครากเน่าต้นเน่าและโรคเหี่ยวสับปะรดในฤดูถัดไปได้
|