คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การคัดเลือกและทดสอบประสิทธิภาพเชื้อราบิวเวอเรีย เพื่อใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืช - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2556 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=6)
+--- เรื่อง: การคัดเลือกและทดสอบประสิทธิภาพเชื้อราบิวเวอเรีย เพื่อใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืช (/showthread.php?tid=1151)



การคัดเลือกและทดสอบประสิทธิภาพเชื้อราบิวเวอเรีย เพื่อใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืช - doa - 02-17-2016

การคัดเลือกและทดสอบประสิทธิภาพเชื้อราบิวเวอเรีย; Beauveria bassiana (Balsamo) เพื่อใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืช
เสาวนิตย์ โพธิ์พูนศักดิ์, อิศเรส เทียนทัด และวิไลวรรณ เวชยันต์
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การคัดเลือกและพัฒนาวิธีการเลี้ยงเชื้อราบิวเวอเรีย เริ่มในเดือนตุลาคม 2553 - กันยายน 2556 ที่ห้องปฏิบัติการกลุ่มงานวิจัยการปราบศัตรูพืชทางชีวภาพ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร การดำเนินงานในปี 2554 ได้เก็บตัวอย่างแมลงเป็นโรคในธรรมชาติ จำนวน 12 ตัวอย่าง ได้แก่ เชื้อราจากใบส้มโอ อ.บางขันแตก จังหวัดสมุทรสงคราม จำนวน 1 ตัวอย่าง เชื้อราจากเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา จำนวน 1 ตัวอย่าง เชื้อราจากหนอนแทะเปลือกลองกอง จ.จันทบุรี จำนวน 1 ตัวอย่าง และเชื้อราจากเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ในนาข้าวที่ จ.สุพรรณบุรี จำนวน 9 ตัวอย่าง นำมาแยกเชื้อให้บริสุทธิ์และส่งจำแนกเชื้อที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังพบว่า เป็นเชื้อราแมลงจำนวน 3 ชนิด คือ Paecillomyces sp., Lecanicillium sp. และ Isaria sp. ต่อมาในปี 2555 ได้ขอความอนุเคราะห์ตัวอย่างเชื้อราบิวเวอเรียจากศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร (B4) ซึ่งแยกเชื้อได้จากมอดเจาะเมล็ดกาแฟ เพื่อใช้ในการทดสอบประสิทธิภาพกับแมลงศัตรูพืช ได้แก่ เพลี้ยแป้งสีชมพู เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หนอนกระทู้ผัก และหนอนกระทู้หอม โดยทำการทดสอบประสิทธิภาพเปรียบเทียบกับเชื้อราบิวเวอเรียจากกรมส่งเสริมการเกษตร (B2) และเชื้อราบิวเวอเรียจากศูนย์พันธุวิศวกรรมฯ (BCC22355 และ BCC31578) ผลการทดสอบประสิทธิภาพพบว่า เชื้อราบิวเวอเรียทั้ง 4 ไอโซเลท มีแนวโน้มในการใช้ควบคุมเพลี้ยแป้งสีชมพูได้ดีกว่าเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หนอนกระทู้ผัก และหนอนกระทู้หอม โดยพบว่าเชื้อราบิวเวอเรียสายพันธุ์ชุมพร (B4) ทำให้เพลี้ยแป้งสีชมพูติดเชื้อได้ 96 – 100% ในขณะที่ผลการทดสอบประสิทธิภาพกับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลพบการติดเชื้ออยู่ระหว่าง 3.75 – 12.5% ส่วนผลการทดสอบประสิทธิภาพกับหนอนกระทู้ผัก และหนอนกระทู้หอม สามารถทำให้ติดเชื้อเพียง 2%