การทดสอบประสิทธิภาพเชื้อราเขียวมัสคาดีน [Metarhizium anisopliae (Metsch) Sorokin] ในร - printable_version +- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research) +-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1) +--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2553 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=8) +--- เรื่อง: การทดสอบประสิทธิภาพเชื้อราเขียวมัสคาดีน [Metarhizium anisopliae (Metsch) Sorokin] ในร (/showthread.php?tid=1071) |
การทดสอบประสิทธิภาพเชื้อราเขียวมัสคาดีน [Metarhizium anisopliae (Metsch) Sorokin] ในร - doa - 01-05-2016 การทดสอบประสิทธิภาพเชื้อราเขียวมัสคาดีน [Metarhizium anisopliae (Metsch) Sorokin] ในรูปแบบผงในห้องปฏิบัติการ เสาวนิตย์ โพธิ์พูนศักดิ์, เกรียงไกร จำเริญมา และสาทิพย์ มาลี กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช การทดสอบประสิทธิภาพเชื้อราเขียวมัสคาดีน Metarhizium anisopliae ในรูปแบบผงในห้องปฏิบัติการ ได้เริ่มทำการวิจัยในช่วงเดือนตุลาคม 2551 - กันยายน 2553 (รวมระยะเวลา 2 ปี) ที่ห้องปฏิบัติการกลุ่มงานวิจัยการปราบศัตรูพืชทางชีวภาพ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โดยแบ่งการดำเนินงานในปีต่างๆ ดังนี้
ปีที่ 1 (ตุลาคม 2551 - กันยายน 2552) เลือกไอโซเลทเชื้อราเขียวมัสคาดีนที่มีประสิทธิภาพดี ในการกำจัดหนอนด้วงแรดมะพร้าวมาเตรียมให้อยู่ในรูปผง โดยเลี้ยงเชื้อราเขียวบนข้าวโพดบดหยาบประมาณ 7 - 14 วัน จากนั้นล้างโคนิเดียออกโดยใช้น้ำที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อแล้ว ปรับกำลังสารแขวนลอยโคนิเดียให้เท่ากับ 1 X 10(9) โคนิเดีย/มล. ผสมยากันแบคทีเรียในอัตรา 5 กรัม/สารแขวนลอยโคนิเดีย 2,500 มล. นำสารแขวนลอยโคนิเดียที่ได้มาผสมกับดิน Pumice ที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อแล้ว โดยใช้อัตราส่วนสารแขวนลอยโคนิเดียต่อดิน Pumice เท่ากับ 1: 4 จากนั้นศึกษาอัตราการใช้เชื้อผงต่ออาหาร (มะพร้าวสับ) ที่เหมาะสม วางแผนการทดลองแบบ CRD 3 ซ้ำ 5 กรรมวิธี โดยแต่ละวิธีจะใช้มะพร้าวสับ 1,000 กรัม ผสมเชื้อในปริมาณที่แตกต่างกันดังนี้ 250, 500, 750, 1,000 กรัม และไม่ใส่เชื้อ ตามลำดับ คลุกส่วนผสมให้ทั่วแบ่งใส่กล่องเลี้ยงแมลงขนาด 7 X 10 ซม. กล่องละ 100 กรัม ใส่หนอนกล่องละ 1 ตัว จำนวน 3 ซ้ำ (ซ้ำละ 20 กล่อง) จากผลการทดลองพบว่า การผสมเชื้อราเขียวทั้ง 4 อัตราให้ผลการเกิดโรคของหนอนด้วงแรดมะพร้าวไม่แตกต่างกัน แต่จะแตกต่างจากกรรมวิธีที่ไม่ใส่เชื้อราเขียวอย่างมีนัยสำคัญ อัตราการตายเริ่มพบในวันที่ 8 ของการทดลองในกรรมวิธีที่ใส่เชื้อราเขียวในทุกอัตรา และในวันที่ 8 – 12 พบว่า มีอัตราการตายในกรรมวิธีที่ใส่เชื้อราเขียวไม่แตกต่างกันในทางสถิติ และในวันที่ 12 ของการทดลองมีอัตราการตาย 100% ในทุกกรรมวิธีที่ใส่เชื้อราเขียว ดังนั้นจึงเลือกใช้เชื้อราเขียวที่อัตรา 250 กรัม
ในการทดลองขั้นต่อไปเพื่อศึกษาประสิทธิภาพการเกิดโรคเมื่อเก็บในห้องเย็นอุณหภูมิ 6 องศาเซลเซียส ภายในระยะเวลา 1 ปี ศึกษาประสิทธิภาพของเชื้อผงที่เก็บในระยะเวลา 1 ปี โดยเตรียมเชื้อในอัตรา 250 กรัมต่อมะพร้าวสับ 1,000 กรัม (1: 4) เก็บในห้องเย็นอุณหภูมิ 6 องศาเซลเซียส แบ่งเชื้อที่เก็บในห้องเย็นมาศึกษาประสิทธิภาพการก่อให้เกิดโรคกับหนอนด้วงแรดมะพร้าวทุกเดือน โดยแบ่งส่วนผสมใส่กล่องเลี้ยงแมลงขนาด 7 X 10 ซม. ปริมาตร 100 กรัม/กล่อง ใส่หนอนด้วงแรดมะพร้าว 1 ตัว/กล่อง จำนวน 3 ซ้ำ (ซ้ำละ 20 กล่อง) ทดสอบประสิทธิภาพภายในระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 - กรกฏาคม 2553 พบว่า อัตราการตายเนื่องจากการติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 8 – 14 วันของการทดลอง โดยส่วนใหญ่พบการติดเชื้ออย่างสมบูรณ์ (100%) ในวันที่ 14 ของการทดลอง อัตราการตายยังเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอในระยะเวลา 1 ปี แสดงว่าการเก็บเชื้อที่อุณหภูมิ 6 องศาเซลเซียส ยังคงรักษาประสิทธิภาพเชื้อไว้ได้ดี และเมื่อตรวจสอบการงอกของเชื้อราเขียวภายในช่วงเวลาเดียวกันพบว่า เชื้อราเขียวยังคงมีประสิทธิภาพการงอกค่อนข้างใกล้เคียงกันในช่วงเวลา 10 เดือนแรกของการทดลอง และประสิทธิภาพจะเริ่มลดลงในเดือนที่ 11 และ 12
|