การใช้เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ในการควบคุมโรคแคงเกอร์ของส้มโอ - printable_version +- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research) +-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1) +--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2553 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=8) +--- เรื่อง: การใช้เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ในการควบคุมโรคแคงเกอร์ของส้มโอ (/showthread.php?tid=1045) |
การใช้เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ในการควบคุมโรคแคงเกอร์ของส้มโอ - doa - 01-05-2016 การใช้เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ในการควบคุมโรคแคงเกอร์ของส้มโอ นลินี ศิวากรณ์, รุ่งนภา คงสุวรรณ์ และวสันต์ ผ่องสมบูรณ์ กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช โรคแคงเกอร์ของส้มโอมีสาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas axonopodis pv. citri จากการศึกษาประสิทธิภาพของเชื้อจุลินทรีย์ที่แยกได้จำนวน 35 ไอโซเลทต่อเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคแคงเกอร์ของส้มโอด้วยวิธี antagonistic reaction โดยเปรียบเทียบกับสารเคมีคอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์และ Kanker-X พบว่า เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์จำนวน 12 ไอโซเลท สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคแคงเกอร์ของส้มโอได้ โดยเชื้อจุลินทรีย์ไอโซเลท 5102 แสดงปฏิกิริยายับยั้งเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคแคงเกอร์ของส้มโอให้บริเวณวงใสขนาดรัศมีกว้าง 8.5 มม. Kanker-X ให้วงใสกว้าง 7.5 มม. ส่วนสารเคมีคอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์ไม่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ X. axonopodis pv. citri นอกจากนี้สารสกัดจากเชื้อจุลินทรีย์ไอโซเลท 5102 บนอาหาร PDB สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคแคงเกอร์ของส้มโอได้และจากการนำเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ไอโซเลท 5102 ที่ได้คัดเลือกไปฉีดพ่นบนต้นส้มโอในเรือนทดลองพบว่า เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ไอโซเลท 5102 สามารถควบคุมโรคแคงเกอร์ได้ในสภาพเรือนทดลอง โดยแสดงจำนวนแผลจุดเฉลี่ย 21.86 จุดต่อใบ ซึ่งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับกรรมวิธีเปรียบเทียบมีจำนวนแผลจุดเฉลี่ย 79.19 จุดต่อใบ และจากการทดสอบประสิทธิภาพของเชื้อจุลินทรีย์ดังกล่าวทำให้พบความสามารถในการส่งเสริมการเจริญเติบโตให้แก่พืชโดยพบว่า จำนวนใบยอด ขนาดของใบ ความยาวของลำต้นส่วนยอดมีการขยายตัวใหญ่กว่าลำต้นปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งจากการจำแนกชนิดด้วยวิธี 16S rDNA Sequence analysis พบว่า เชื้อจุลินทรีย์ดังกล่าวเป็นเชื้อแบคทีเรีย Bacillus subtilis strain WD20 จึงได้ทำการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพอีกครั้ง โดยทดสอบบนต้นถั่วขียวและต้นส้มโอ ผลการทดลองพบว่า ต้นถั่วเขียวที่ได้รับการฉีดพ่นเชื้อ B. subtilis WD20 มีจำนวนและน้ำหนักของฝักและเมล็ดมากกว่าต้นที่ฉีดพ่นด้วยเชื้อ B. subtilis strain ZJUT zy และต้นที่ฉีดพ่นด้วยน้ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนในส้มโอพบว่าความยาวของลำต้นส่วนยอด จำนวนใบ และขนาดของใบ มีจำนวนมากและขนาดใหญ่กว่าต้นที่ฉีดพ่นด้วยน้ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งสอดคล้องกับผลการตรวจวิเคราะห์ทางเคมีพบว่า เชื้อ B. subtilis WD20 ที่เลี้ยงในอาหารเลี้ยงเชื้อ PDB สามารถผลิตฮอร์โมน IAA 0.15 มก./ลิตร และ GA3 5.2 มก. /ลิตร และจากการศึกษาประสิทธิภาพของเชื้อ B. subtilis WD20 ที่ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดผง เปรียบเทียบกับการใช้เชื้อแบคทีเรีย B. subtilis WD20 ที่เป็นเชื้อสดซึ่งเลี้ยงจากอาหารเลี้ยงเชื้อโดยตรงกับสารเคมีคอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์และน้ำเป็นกรรมวิธีเปรียบเทียบ โดยทดสอบบนยอดของส้มโอที่แตกใหม่ขนาดความยาว 1.5 นิ้ว และทำให้เกิดโรคแคงเกอร์ด้วยการฉีดพ่นเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคแคงแกอร์ (X. campestris pv. citri) อัตราความเข้มข้นของเชื้อ 1.179 X 10(11) โคโลนี/มล. ในแปลงปลูกส้มโอ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา ผลการทดลองพบว่า ผงเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ B. subtilis WD20 สามารถยับยั้งและลดการเกิดโรคแคงเกอร์ของส้มโอได้ดีที่สุด โดยให้เปอร์เซ็นต์ความรุนแรงของการเกิดโรคต่ำที่สุดเท่ากับ 25.61% ซึ่งไม่แตกต่างกับการฉีดพ่นในรูปเชื้อสดที่เลี้ยงจากอาหารเลี้ยงเชื้อโดยตรงให้เปอร์เซ็นต์ความรุนแรงของการเกิดโรคเท่ากับ 26.62% แต่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับการฉีดพ่นด้วยสารเคมีคอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์ให้เปอร์เซ็นต์ความรุนแรงของการเกิดโรคเท่ากับ 51.74% และกรรมวิธีเปรียบเทียบที่ฉีดพ่นด้วยน้ำให้เปอร์เซ็นต์ความรุนแรงของการเกิดโรคเท่ากับ 54.02% นอกจากนี้การฉีดพ่นด้วยเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ B. subtilis WD20 ทั้งในรูปผงเชื้อและเชื้อสดทำให้ต้นส้มโอมีการเจริญเติบโตดี ความยาวลำต้นส่วนยอดขยายตัวยาวกว่าปกติใบมีขนาดใหญ่ ต้นมีความสมบูรณ์และแข็งแรง
|