สำรวจรวบรวม และจำแนกแบคทีเรีย Xanthomonas campestris สาเหตุโรคเน่าดำพืชตระกูลกะหล่ำ - printable_version +- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research) +-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1) +--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2553 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=8) +--- เรื่อง: สำรวจรวบรวม และจำแนกแบคทีเรีย Xanthomonas campestris สาเหตุโรคเน่าดำพืชตระกูลกะหล่ำ (/showthread.php?tid=1026) |
สำรวจรวบรวม และจำแนกแบคทีเรีย Xanthomonas campestris สาเหตุโรคเน่าดำพืชตระกูลกะหล่ำ - doa - 01-05-2016 สำรวจรวบรวม และจำแนกแบคทีเรีย Xanthomonas campestris สาเหตุโรคเน่าดำของพืชตระกูลกะหล่ำและผักกาด ปิยรัตน์ ธรรมกิจวัฒน์, ณัฏฐิมา โฆษิตเจริญกุล, เพลินพิศ สงสังข์ และวงศ์ บุญสืบสกุล กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช สำรวจการเกิดโรคใบเน่าดำในพืชตระกูลกะหล่ำและผักกาด ระหว่างเดือนตุลาคม 2550 ถึงเดือนกันยายน 2553 พบการเกิดโรคจากเชื้อแบคทีเรีย 2 แบบ คือ อาการแผลไหม้รูปตัววีจากขอบใบและแผลไหม้เป็นสีน้ำตาลจากกลางใบลามมาที่ขอบใบเป็นอาการขอบโรคเน่าดำหรือขอบใบทอง และพบการเกิดโรคอาการใหม่คือ แผลจุดดำขนาด 1-3 มิลลิเมตร สีน้ำตาลเข้มถึงดำ มีวงสีเหลืองล้อมรอบ แผลแห้งลุกลามติดกันพบลักษณะแผลจุดเป็นสะเก็ดนูนดำ ทั้งสองอาการพบระบาดและรุนแรงในช่วงฤดูฝน พืชอาศัยที่พบอาการโรคเน่าดำหรือขอบใบทอง ได้แก่ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บร็อคโคลี่ คะน้า และผักกาดขาว พืชอาศัยที่พบอาการใบจุด คือ คะน้า และกะหล่ำดอก จากการแยกเชื้อบนอาหารสังเคราะห์ ได้แบคทีเรียลักษณะโคโลนีสีเหลืองอ่อนถึงเหลืองเข้มรูปร่างกลมนูนเยิ้ม ผิวมันขอบเรียบบนอาหาร NGA และ YDC ซึ่งเป็นลักษณะของแบคทีเรีย Xanthomonas campestris ทำให้เกิดปฏิกิริยาการตายเฉียบพลันบนใบยาสูบ เป็นแบคทีเรียแกรมลบ สร้างเมือกเยิ้ม ย่อยเจลาติน ย่อยแป้ง ไอโซเลท P233 (แผลไหม้)ให้ผลออกซิเดสลบ แคตตาเลสบวก (weak positive) และ P254 (แผลจุด) ออกซิเดสและแคตตาเลสบวก ทั้งสองไอโซเลทไม่สร้างกรดจากน้ำตาลกลูโคส ซูโครส และแลคโตส ไม่สร้างก๊าซไดไฮโดรเจนซัลไฟล์จากเฟอรัสซัลเฟต ผลทดสอบแหล่งคาร์บอน (Biolog test) จำแนกเชื้อได้เพียงระดับสปีชีส์ คือ X. campestris ทดสอบการเกิดโรคและประเมินความรุนแรงของแบคทีเรีย จำนวน 22 ไอโซเลท บนพืชอาศัย 5 ชนิด ได้แก่ คะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บร็อคโคลี่ และ ผักกาดขาว พบการเกิดโรคอาการใบจุดและใบไหม้บนพืชอาศัย แสดงอาการและความรุนแรงแตกต่างกันไปแต่ละไอโซเลทยกเว้นผักกาดขาวที่ไม่พบอาการใบจุด
วิเคราะห์ลำดับเบสบริเวณ 16s rDNA ของแบคทีเรียไอโซเลท 380 และ 381 ที่แยกจากอาการใบจุดและใบไหม้ ตามลำดับ เปรียบเทียบกับฐานข้อมูล GeneBank พบว่า มีความคล้ายกับแบคทีเรีย X. campestris pv. campestris 99 เปอร์เซ็นต์ ความผันแปรของลักษณะทางพันธุกรรมของแบคทีเรียด้วยไพรเมอร์ Box และ Eric พบว่ารูปแบบลายพิมพ์ดีเอ็นเอไม่มีความสัมพันธ์กับพืชอาศัย แหล่งปลูกพืช หรือลักษณะอาการ แบคทีเรียสาเหตุโรค X. campestris pv. campestris สามารถเข้าทำลายพืชทำให้เกิดอาการใบไหม้และใบจุด
|