การศึกษาวิธีการที่เหมาะสมในการเก็บรักษาสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน - printable_version +- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research) +-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1) +--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2553 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=8) +--- เรื่อง: การศึกษาวิธีการที่เหมาะสมในการเก็บรักษาสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (/showthread.php?tid=1015) |
การศึกษาวิธีการที่เหมาะสมในการเก็บรักษาสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน - doa - 01-04-2016 การศึกษาวิธีการที่เหมาะสมในการเก็บรักษาสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ประไพ ทองระอา, ศิริลักษณ์ แก้วสุรลิขิต และกัลยกร โปร่งจันทึก กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ศึกษาวิธีการเก็บรักษาสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่สามารถตรึงไนโตรเจนได้และมีเฮเทอโรซีสต์จำนวน 8 สกุล คือ Anabaena sp. (DASH05102), Nostoc sp. (DASH06101), Scytonema sp. (DASH07103), Tolypothrix sp. (DASH08103) และ Stigonema sp. (DASH09101) โดยแบ่งการศึกษาเป็น 3 การทดลอง คือ 1) ศึกษาวิธีการเก็บรักษาสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินโดยวิธีการทำแห้งโดยอากาศ 2) ศึกษาวิธีการเก็บรักษาสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินโดยวิธีการเยือกแข็ง 3) ศึกษาวิธีการเก็บรักษาสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินโดยวิธีการทำแห้งโดยอากาศร่วมกับวิธีการเยือกแข็ง โดยแต่ละการทดลองย่อยทำการเลี้ยงสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินสกุลต่างๆ ในอาหารเหลวปราศจากไนโตรเจนสูตร BG-11 ในสภาพควบคุมจนถึงระยะปลาย statinary phase จากนั้นทำการเก็บเซลล์สาหร่ายตามวิธีการต่างๆ ที่กำหนดของแต่ละการทดลองย่อย ทำการหาปริมาณการรอดชีวิตของสาหร่ายแต่ละสกุลก่อนการเก็บรักษา และหลังการเก็บรักษาที่ระยะเวลาต่างๆ โดยวิธี Dilution Plate คำนวรอัตราการรอดชีวิตของเชื้อเป็นค่า logarithmic count เปรียบเทียบกับก่อนเก็บรักษา 1 2 4 และ 6 เดือน พบว่าสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินเกือบทุกสกุลมีการรอดชีวิตใกล้เคียงกับก่อนการเก็บรักษา มีเพียง Calothrix sp. (02101), Nostoc sp. (DASH06101) และ Tolypothrix sp. (DASH08103) ที่เมื่อเก็บรักษาที่ระยะเวลา 4 และ 6 เดือน การรอดชีวิตมีค่าลดลงจากก่อนเก็บรักษาประมาณ 1 log ส่วนผลการเก็บรักษาสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินโดยวิธีการเยือกแข็งพบว่า ก่อนการเก็บรักษาสาหร่ายทุกสกุลมีค่าเฉลี่ย logarithmic count อยู่ระหว่าง 4.60 ถึง 6.11 เมื่อเก็บรักษานาน 1 2 4 และ 6 เดือน พบว่าสาหร่ายทุกสกุลไม่รอดชีวิตเลยตั้งแต่เดือนแรกที่เก็บรักษาจนถึงเดือนที่ 6 ส่วนผลการเก็บรักษาสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินโดยวิธีทำแห้งโดยอากาศร่วมกับวิธีการเยือกแข็งพบว่า เมื่อทำการระเหยน้ำออกจากเซลล์ นาน 1 สัปดาห์ สาหร่ายสกุลต่างๆ มีความชื้นอยู่ระหว่าง 5-10 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อนำไปเก็บโดยวิธีการเยือกแข็งพบว่า สามารถทำให้สาหร่ายทุกสกุลมีการรอดชีวิตได้นานถึง 16 เดือน โดยในช่วงเดือนที่ 4 และ 8 สาหร่ายมีการรอดชีวิตใกล้เคียงกับก่อนการเก็บรักษา แต่เมื่อถึงเดือนที่ 12 และ 16 สาหร่ายมีการรอดชีวิตลดลงประมาณ 1-2.5 logs ซึ่งขึ้นอยู่กับสกุลของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ซึ่งจากการทดลองดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการเก็บรักษาสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่เหมาะสมคือ วิธีการทำแห้งโดยอากาศร่วมกับวิธีการเยือกแข็ง
|