กรมวิชาการเกษตร ร่วมประชุมเตรียมการรับเสด็จ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (รร.จปร.) จังหวัดนครนายก
วันพฤหัสบดี ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 เวลา 10.00 น. พลตรีศุภชัย ศรีหอม รองฯ ผบ.โรงเรียนนายร้อย จปร. ทำการแทน ผบ.โรงเรียนายร้อย จปร. เป็นประธานในการประชุม ณ ห้องประชุม กองบัญชาการโรงเรียนนายร้อย จปร. (รร.จปร.) เพื่อเตรียมการรับเสด็จพลเอกหญิง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทอดพระเนตรการปลูกข้าว ในวันพุธที่ 13 กรกฏาคม 2565 เวลา 13.30 น. ณ แปลงสาธิตการเกษตร รร.จปร. โดยมีนายธีรภัทร เข็มทอง ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และเจ้าหน้าที่ กปร. เข้าร่วมการประชุมฯ เพื่อให้การเตรียมการรับเสด็จฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยมีหัวหน้าส่วนราชการและตัวแทนจากส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงาน กปร. และฝ่ายทหารเข้าร่วมประชุมด้วย
ในการเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรจะกราบบังคมทูลรายงานเกี่ยวกับกล้วยน้ำว้าพันธุ์สุโขทัย 1 โดยกล้วยน้ำว้าพันธุ์นี้มีลักษณะเด่น คือ ให้ผลผลิตสูง น้ำหนักเครือ 16.1 กิโลกรัม สูงกว่ากล้วยน้ำว้ามะลิอ่องซึ่งเป็นพันธุ์การค้าที่ให้ผลผลิต 13.7 กิโลกรัม จำนวน 9 หวี/เครือ สูงกว่ากล้วยน้ำว้ามะลิอ่องซึ่งให้จำนวนหวี 8 หวี/เครือ ลักษณะผลค่อนข้างป้อมกลมและใหญ่กว้าง 3.8 เซนติเมตร และยาว 14 เซนติเมตร ซึ่งใหญ่กว่าพันธุ์การค้า คุณค่าทางโภชนาการ ต่อกล้วยน้ำว้า 100 กรัม มีวิตามินบี 3 0.006 มิลลิกรัม สูงกว่ากล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง (0.003 มิลลิกรัม) ร้อยละ 97 โพแทสเซียม 309 มิลลิกรัม สูงกว่ากล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง (279 มิลลิกรัม) ร้อยละ 11 เนื้อผลทั้งดิบและสุกมีสีครีมอ่อน เนื้อละเอียดเหนียว และมีรสชาติหวานไม่อมเปรี้ยว สามารถปลูกได้ดีทั่วไปในพื้นที่ที่มีการระบายน้ำดี ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรปทุมธานี ได้ดำเนินการปลูกกล้วยน้ำว้าดังกล่าวในแปลงไม้ผลภาคใต้ ในบริเวณพื้นที่ของ รร.จปร.