ข่าวการรับเสด็จ

กรมวิชาการเกษตรร่วมเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

วันศุกร์ ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2565 เวลา 09.30 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความก้าวหน้าผลการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร นางสาวจงรัก อิ่มใจ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 นายธีรภัทร เข็มทอง ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมคณะ เข้าเฝ้าฯ รับเสด็จ

ในพื้นที่ศูนย์ศึกษาฯ กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการนำเทคโนโลยีเข้าไปถ่ายทอด ทดสอบและพัฒนาการปลูกพืช การเพาะเห็ด การจัดทำแปลงต้นแบบ การฝึกอบรมและขยายผลไปสู่เกษตรกรในเครือข่าย ได้แก่

1. แปลงต้นแบบการเพาะเห็ดเศรษฐกิจ ได้ดำเนินการภายในศูนย์ศึกษาฯ โดยกรมวิชาการเกษตรร่วมกับศูนย์ศึกษาฯ วางแผนการผลิตเห็ดตามฤดูกาล 1 โรงเรือน โดยมีเห็ด 2 ชนิด คือ เห็ดนางฟ้าภูฎาน ได้ผลผลิต 50 กิโลกรัมต่อรุ่น และเห็ดนางรมฮังการี ได้ผลผลิต 51.2 กิโลกรัมต่อรุ่น โดยมีเห็ดชนิดละ 500 ก้อน เก็บผลผลิตได้ 4-5 รุ่นต่อรอบ จำหน่ายกิโลกรัมละ 40-50 บาท

2. แปลงต้นแบบการปลูกมะขามป้อม โดยเจ้าหน้าที่ของศูนย์ศึกษาฯ เข้าศึกษาดูงานและฝึกปฏิบัติการขยายพันธุ์มะขามป้อม โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ ได้นำยอดที่ได้จากการฝึกปฏิบัติไปขยายในแปลงต้นแบบต่อไป ทั้งนี้ ยอดที่นำมาเสียบยอดในแปลงต้นแบบมีเปอร์เซ็นต์การติดประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์

3. แปลงต้นแบบการปลูกลิ้นจี่พันธุ์นครพนม 1 ได้ดำเนินการภายในบริเวณศูนย์ศึกษาฯ โดยปลูกลิ้นจี่พันธุ์นครพนม 1 จำนวน 20 ต้น ดำเนินการดูแลรักษาและบำรุงต้นโดยการใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 อัตรา 100 กรัมต่อครั้งต่อต้น จำนวน 2 ครั้ง ระยะห่างการใส่ปุ๋ยประมาณ 1 เดือน ในครั้งที่ 1 เมื่อต้นลิ้นจี่แตกใบอ่อนรอบแรกหลังตัดแต่งกิ่ง ครั้งที่ 2 เมื่อผลลิ้นจี่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 เซนติเมตร

4. แปลงต้นแบบการปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ ได้ดำเนินการในพื้นที่ของนายยงยุทธ ขันทองนาค ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ในพื้นที่ 1 ไร่ โดยกรมวิชาการเกษตรและศูนย์ศึกษาฯ ร่วมวางแผนการผลิตผัก 2 ชนิด ได้แก่ กวางตุ้งและคะน้า และใช้สารชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดโรค แมลงศัตรูผัก และเก็บตัวอย่างดินเพื่อตรวจหาปริมาณธาตุอาหารพืช นอกจากนี้ เกษตรกรได้ดำเนินการไถพรวนดิน เตรียมแปลง โดยกรมฯ สนับสนุนไตรโคเดอร์มาร่วมกับการใช้ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทยเพื่อป้องกันกำจัดโรคและแมลงในดิน ก่อนการปลูก กรมฯ ได้เปรียบเทียบผลผลิตระหว่างในและนอกโรงเรือน พบว่า ในโรงเรือนได้ผลผลิตประมาณ 16,000 กิโลกรัมต่อไร่ นอกโรงเรือนได้ผลผลิตประมาณ 10,000 กิโลกรัมต่อไร่

5. แปลงต้นแบบการเพาะเห็ดเศรษฐกิจ ได้ดำเนินการในพื้นที่ของนางเจริญศรี คำประเสริฐ ตำบลเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1 โรงเรือน โดยกรมวิชาการเกษตรร่วมกับศูนย์ศึกษาฯ วางแผนการผลิตเห็ดหอม จำนวน 500 ก้อน เก็บผลผลิตได้ 4 รุ่น รวม 30 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 150 บาท รวมเป็นเงิน 4,500 บาท

6. ฝึกอบรมให้ความรู้ ได้ดำเนินการจัดฝึกอบรม 3 หลักสูตร ได้แก่ การใช้ปุ๋ยชีวภาพ การใช้สารชีวภัณฑ์ทางการเกษร และการปลูกพืชไร่และพืชหลังนา โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมทั้งสิ้น 300 ราย