ข่าวกิจกรรมบุคลากร

ผอ.กปร. ติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนาเทือกเขานมสาว และ โครงการพัฒนาที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนา (กิโลเมตรที่ 720) อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา

วันอังคาร ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2565 เวลา 09.00 น. นายธีรภัทร เข็มทอง ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมด้วย นางจีรภา ออสติน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพังงา และเจ้าหน้าที่จากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 และเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพังงา ติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนา เทือกเขานมสาว อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพื้นที่เหมืองแร่ร้างและพื้นที่เสื่อมโทรมให้สามารถกลับมาทำการเกษตรได้โดยนำเทคโนโลยีการผลิตปาล์มน้ำมันของกรมวิชาการเกษตรมาประยุกต์ใช้ในสภาพพื้นที่ต่าง ๆ ตลอดตนเป็นแปลงต้นแบบ/แปลงเรียนรู้ในการศึกษาดูงานและเผยแพร่เทคโนโลยีการผลิตพืชในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน

จากการลงพื้นที่ติดตามประสานการดำเนินงานโครงการฯ ซึ่งกรมวิชาการเกษตร โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพังงา ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำด้านการเกษตร ภายในแปลงได้จัดทำแปลงต้นแบบการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่เหมืองร้าง โดยส่วนใหญ่ปลูกปาล์มน้ำมันพันธุ์สุราษฎร์ธานี 1 พันธุ์สุราษฎร์ธานี 2 พันธุ์สุราษฎร์ธานี 3 และอยู่ในช่วงที่ปรับเปลี่ยนเป็นปลูกพืชผสมผสาน พืชที่ปลูก ได้แก่ มะม่วงหิมพานต์ และกล้วย จากการปลูกพืชดังกล่าวพบปัญหาหนอนเจาะผลเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ นอกจากนี้ได้ลงพื้นที่ติดตามประสานการดำเนินงานในแปลงขยายผลของเกษตรกร นายสุจิต ศรีเพชร์ ซึ่งได้นำเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรเรื่องการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ทางใบไปใช้ภายในแปลง

เวลา 13.00 น. นายธีรภัทร เข็มทอง ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมด้วย นางจีรภา ออสติน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพังงาและเจ้าหน้าที่จากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 ติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนา (กิโลเมตรที่ 720) อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพื้นที่นากุ้งร้างและพื้นที่เสื่อมโทรมให้สามารถกลับมาทำการเกษตรได้โดยนำเทคโนโลยีการผลิตพืชของกรมวิชาการเกษตรมาประยุกต์ใช้ในสภาพพื้นที่ต่าง ๆ ตลอดตนเป็นแปลงต้นแบบ/แปลงเรียนรู้ในการศึกษาดูงานและเผยแพร่เทคโนโลยีการผลิตพืชในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน

จากการลงพื้นที่ติดตามประสานการดำเนินงานโครงการฯ ซึ่งกรมวิชาการเกษตร โดย ศวพ.พังงา ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำด้านการเกษตร ภายในแปลงได้จัดทำแปลงต้นแบบการปลูกพืชผสมผสาน โดยปลูกพืชหลายชนิด ได้แก่ ทุเรียนพันธุ์สาริกา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ เป็นต้น นอกจากนี้ ได้ลงพื้นที่ติดตามประสานการดำเนินงานแปลงขยายผลของเกษตรกร นายรณชัย ลือแทน ภายในแปลงปลูกพืชผสมผสานตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ และได้นำเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ แหนแดง และสารชีวภันฑ์ต่าง ๆ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิตจาก ศวพ.พังงา ได้แก่ ปุ๋ยหมักเติมอากาศและไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทย มาใช้ภายในแปลง