ข่าวกิจกรรมบุคลากร

กปร. ลงพื้นที่ติดตามและประสานการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการพิเศษ ปีงบประมาณ 2567 ในพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแม่ฮ่องสอน (ศวพ.มส) สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่

นายเทวรัตน์ บูรณ์สวัสดิ์พงษ์ ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) กรมวิชาการเกษตร มอบหมายให้นายประภาส ทรงหงษา นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ กปร. ลงพื้นที่ติดตามและประสานการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการพิเศษ ปีงบประมาณ 2567 ในพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแม่ฮ่องสอน (ศวพ.มส) สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 4 – 8 มิถุนายน 2567 ทั้งนี้
นายมณเทียน แสนดะหมื่น นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ และคณะร่วมลงพื้นจำนวน  3 โครงการ ได้แก่

1.โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านดอยผีลู มีเกษตรกรขยายผล จำนวน 5 ราย เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชหลัก รวมทั้ง มีการปลูกถั่วแดง ข้าวไร่ ขิง ฟักทอง ต่อมาได้เริ่มปรับเปลี่ยนมาปลูกไม้ผลแบบผสมผสาน โดยเริ่มจากการปลูกมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ และมหาชนก เจ้าหน้าที่จากกรมวิชาการเกษตรได้แนะนำเทคโนโลยีเพื่อนำไปใช้ในการเพิ่ม ประสิทธิภาพในการปลูกมะม่วงได้แก่ การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การห่อผลมะม่วง เนื่องจากเกษตรกรประสบกับปัญหาหนอนเจาะเมล็ดมะม่วง การรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร (GAP) และการทำเกษตรอินทรีย์

2.โครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน “ลุ่มน้ำของ” (ปางคอง) อำเภอปางมะผ้า มีเกษตรกรขยายผล จำนวน 10 ราย เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกข้าวโพด ถั่วแดง ถั่วดำ และปลูกกาแฟ ซึ่งการปลูกกาแฟประสบปัญหามอดเจาะผลกาแฟ เจ้าหน้าที่จากกรมวิชาการเกษตรจึงได้นำเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดมอดเจาะผลกาแฟ พร้อมทั้งสาธิตวิธีการทำ และวิธีใช้ รวมทั้ง เทคโนโลยีการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน สนับสนุนแก่เกษตรกร

3.โครงการหมู่บ้านพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านอาโจ้ มีเกษตรกรขยายผลจำนวน 5 ราย เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกข้าวโพดเป็นพืชหลัก กรมวิชาการเกษตรได้เข้าไปจัดฝึกอบรมเรื่องการปลูกพืชแบบผสมสานและได้สนับสนุนต้นกาแฟอะราบิกาพันธุ์เชียงใหม่ 80 เเละสนับสนุนเทคโนโลยีการจัดการ/ดูแลรักษาต้นกาแฟ แต่เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวประสบปัญหาเรื่องไฟป่าและฤดูร้อนมีความแห้งแล้งมากจึงทำให้ต้นกาแฟไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร