ข่าวกิจกรรมบุคลากร

กปร. ลงพื้นที่เพื่อติดตามประสานการดำเนินงานเกษตรกรขยายผลปี 2566 ของโครงการศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จ.อุบลราชธานี และโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ บ้านยางน้อย ต.ก่อเอ้ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี

วันศุกร์ ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2566 นายประภาส ทรงหงษา นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) กรมวิชาการเกษตร มอบหมายให้นางสาววรินดา เม่นทอง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ และคณะ พร้อมด้วยนางโสภิตา สมคิด รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง) และนางสาววลีรัตน์ วรกาญจนบุญ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 จังหวัดอุบลราชธานี ลงพื้นที่เพื่อติดตามประสานการดำเนินงานเกษตรกรขยายผลปี 2566 ของโครงการศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดอุบลราชธานี โดยโครงการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป

จากการลงพื้นที่ในการติดตามประสานการดำเนินงานพบว่า ภายใต้โครงการฯ ได้ดำเนินการจัดทำแปลงต้นแบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านพืชพื้นที่ 4 ไร่ อาทิ แปลงข้าวขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วและปลูกพืชหลังนา (ข้าวโพด) แปลงผักปลอดภัย แปลงไม้ผลผสมผสาน ทุเรียน โกโก้ มะพร้าวน้ำหอม กล้วยน้ำว้า และเพาะขยายแม่พันธุ์แหนแดง พร้อมทั้งลงพื้นที่เกษตรกรขยายผลปี 2566 จำนวน 2 ราย โดยได้รับองค์ความรู้ผ่านแปลงต้นแบบในศูนย์เรียนรู้ฯ เรื่องการใช้แหนแดงเป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าวเพื่อเป็นการลดการใช้สารเคมี ลดต้นทุนการผลิต ซึ่งเกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเองได้ และปี 2567 เกษตรกรมีแผนจะขยายพันธุ์แหนแดงเพิ่มขึ้นเพื่อนำไปใช้เป็นปุ๋ยพืชสด และนำไปใช้เป็นส่วนผสมในอาหารเลี้ยงสัตว์ต่อไป

จากนั้น ลงพื้นที่ในการติดตามประสานงานการดำเนินงานโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ บ้านยางน้อย ตำบลก่อเอ้ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี โดยโครงการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งจ้างแรงงานในพื้นที่ใกล้เคียง เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรที่ถูกต้อง เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยให้มีการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

จากการลงพื้นที่ในการติดตามประสานงานการดำเนินงานพบว่า ภายใต้โครงการฯ ได้จัดทำแปลงต้นแบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านพืชพื้นที่ 10 ไร่ แปลงไม้ผลผสมผสาน อาทิ มะม่วง ฝรั่งพันธุ์กิมจู อ้อยคั้นน้ำพันธุ์สุพรรณบุรี 50 และแหนแดง พร้อมทั้งลงพื้นที่เกษตรกรขยายผล ปี 2566 จำนวน 2 ราย โดยได้รับองค์ความรู้ผ่านแปลงต้นแบบในศูนย์เรียนรู้ฯ เรื่องการผลิตข้าวโดยใช้แหนแดงในการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งเกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้ในแปลงของตนเองได้