ข่าวการรับเสด็จ

กรมวิชาการเกษตร ร่วมรับเสด็จ ฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดงาน “วันลองกอง” ในงาน “วันของดีเมืองนารา” ครั้งที่ 46 จังหวัดนราธิวาส

วันจันทร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2566 เวลา 09.00 น. นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายสุรกิตติ ศรีกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตพืช นายจิระ สุวรรณประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 นายพิทักษ์ พรหมเทพ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนราธิวาส และนายธีรภัทร เข็มทอง ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร เข้าเฝ้าฯ รับเสด็จ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดงาน “วันลองกอง” ในงาน “วันของดีเมืองนารา” ครั้งที่ 46 ณ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส

ในการนี้ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้เบิกตัว นายสุรกิตติ ศรีกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตพืช กราบบังคมทูลรายงาน เรื่อง “เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีมือปราบโรครากเน่าและโคนเน่าในทุเรียน” ซึ่งพบครั้งแรกในประเทศไทย โดย ศ.ดร.วีระศักดิ์ ศักดิ์ศิริรัตน์ และคณะ เมื่อปี พ.ศ. 2544 ในพื้นที่ของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ที่หมู่บ้านโคกภูตากา อำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น ต่อมาเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานโครงการ อพ.สธ. ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเห็ดเรืองแสงชนิดนี้ว่า “เห็ดสิรินรัศมี” เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี มีชื่อวิทยาศาสตร์ : Neonothopanus nambi (Speg.) R.H. Petersen & Krisai

ซึ่งเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีข้อดี คือ มีประสิทธิภาพสูง ทดแทนการใช้สารเคมีได้และมีความปลอดภัยสูงต่อมนุษย์ สัตว์ สิ่งแวดล้อม และไม่มีพิษตกค้าง เกษตรกรสามารถนำไปผลิตขยายใช้เองได้และลดต้นทุนในการผลิตพืช ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรซึ่งมีอายุการเก็บรักษาได้นานถึง 12 เดือน ที่อุณหภูมิห้อง โดยสภาพก้อนไม่ย่อยสลาย ชีวภัณฑ์เห็ดเรืองแสงมีความคงทนสามารถเจริญและสร้างสารในดินได้เป็นเวลานาน ซึ่งต่างจากสารเคมีที่มีการเสื่อมและไม่คงทน

ข้อจำกัดของเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี อัตราและวิธีการใช้แตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดพืชและความเหมาะสมของพื้นที่และควรเก็บให้พ้นแสงแดด การขับเคลื่อนเทคโนโลยีการผลิต ขยายเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีพร้อมใช้เพื่อควบคุมโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน ภายใต้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ดำเนินการในพื้นที่ จังหวัด นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา พัทลุง และตรัง จำนวน 7 ศพก. เพื่อนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมจากงานวิจัยถ่ายทอดสู่เกษตรกรหรือกลุ่มเป้าหมายเพื่อนำไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุเรียน และควบคุมโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน

ผลการดำเนินงาน/การยอมรับเทคโนโลยีของเกษตรกรแปลงต้นแบบ เกษตรกรแปลงต้นแบบให้ความสนใจ และยินยอมให้นำสารชีวภัณฑ์เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี ไปใช้ในการควบคุมโรครากเน่าโคนเน่าในแปลงเป็นอย่างดียิ่ง เพราะสามารถลดต้นทุนการใช้สารเคมี อีกทั้งไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม การใช้เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีเพื่อควบคุมโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน มีต้นทุน 500 บาท/ไร่/ปี ขณะที่การใช้สารเคมีต้นทุนเฉลี่ย 1,800 บาท/ไร่/ปี จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับเกษตรกรที่ต้องการลด ละ เลิกการใช้สารเคมี เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

ในวันเดียวกันนี้ ช่วงบ่าย เวลา 15.00 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยัง ศูนย์การศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มอบหมายให้ นายสุรกิตติ ศรีกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตพืช เป็นผู้แทนกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วย นายธีรภัทร เข็มทอง ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร ร่วมเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จ

โอกาสนี้ นายปวัตร์ นวะมะรัตนเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้กราบบังคมทูลรายงานผลการดำเนินงานศูนย์สาขาที่ 1 โครงการสวนยางพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ซึ่งเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริให้ศูนย์วิจัยยางสงขลาจัดทำสวนตัวอย่างปลูกยางพันธุ์ดีขึ้น ภายในเขตพระราชฐานชั้นนอกของพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ในพื้นที่ 19.65 ไร่ เพื่อสาธิตการปลูกยางพันธุ์ดี จำนวน 5 แปลง เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2518 และสามารถเปิดกรีดได้เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแปลงตัวอย่างการปลูกยางพันธุ์ดี การปลูกพืชแซมยาง รวมถึงการบริหารจัดการสวนยางที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ สำหรับเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ที่สนใจทั่วไปได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการสวนยางของตัวเองต่อไป ปัจจุบันคงเหลือพื้นที่ปลูกยางพารา เนื้อที่ 12.93 ไร่ (ลดลง 32%)

ซึ่งสาเหตุที่ผลผลิตลดลง คือ
1. ต้นยางพาราภายในแปลงโครงการฯ มีอายุมาก
2. การระบาดของโรครากขาวยางพารา

ทั้งนี้ ได้มีแผนการดำเนินงานในอนาคต คือ การจัดทำแปลงสาธิตการปลูกยางพาราพันธุ์ดีและพืชร่วมยาง/พืชแซมยาง มีแผนการดำเนินงาน ดังนี้
1. มีการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์เดิมของโครงการฯ ในการเป็นแหล่งรวบรวมและอนุรักษ์พันธุ์ยางพาราดั้งเดิม
2. พิจารณาดำเนินการปลูกยางพาราพันธุ์ใหม่ที่มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยใช้พันธุ์ยางที่มีการปรับปรุงพันธุ์มาให้ต้านทานโรค และมีผลผลิตสูงกว่ายางพันธุ์เดิม
3. จัดหาพื้นที่บริเวณสวนยางเขาสำนัก เนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ จัดทำเป็นแปลงศึกษาเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกยางพันธุ์ดี ทั้ง 5 สายพันธุ์ รวมทั้ง พิจารณายางพาราพันธุ์ใหม่ที่มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจดี และมีความต้านทานโรค
4. พิจารณาหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการขับเคลื่อนการจัดทำแปลงรวบรวมอนุรักษ์พันธุ์ยางพารา และแปลงศึกษาเรียนรู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตยางพันธุ์ดี