พิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพ

ประวัติความเป็นมา
              พิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพ (BANGKOK HERBARIUM: BK)  เป็นพิพิธภัณฑ์พืชแห่งแรกและเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย มีหน้าที่เก็บรวบรวมตัวอย่างพรรณไม้ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงสำหรับ การตรวจสอบชื่อวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง อันเป็นชื่อสากลและเป็นที่ยอมรับใน ระดับนานาชาติ มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน กล่าวคือ เมื่อปีพุทธศักราช 2445 นายแพทย์ A.F.G. Kerr ชาวไอริชเดินทางเข้ามาในประเทศไทย (ประเทศสยาม ในขณะนั้น) ท่านมีความสนใจเก็บรวบรวมและสำรวจพรรณไม้ในภาคเหนือ ได้ตัวอย่างจำนวนหนึ่งที่ไม่เคยมีการสำรวจมาก่อน ในช่วงระยะเวลาเดียวกันนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชดำริในการขยายงานด้านการสำรวจพรรณพฤกษชาติแห่งประเทศไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “กรมตรวจพันธุ์รุกขชาติ” ขึ้น สังกัดอยู่ในกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม เมื่อปีพุทธศักราช 2463 เพื่อทำหน้าที่สำรวจและตรวจสอบงานที่เกี่ยวข้องกับด้านพฤกษศาสตร์ โดยมี “พิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพ”  เป็นสถานที่เก็บรวบรวมตัวอย่างพรรณไม้ที่สำรวจพบและการจัดเก็บตัวอย่างพืชตามหลักสากล ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ให้นายแพทย์ A.F.G. Kerr ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของกรมตรวจพันธุ์รุกขชาติเป็นคนแรก
ตลอดช่วงระยะเวลาที่ นายแพทย์ A.F.G. Kerr ร่วมกับผู้ร่วมสำรวจพรรณไม้ คือ นายเนย อิศรางกูร  ณ อยุธยา นายระบิล บุนนาค นายพุด ไพรสุรินทร์ และ หม่อมเจ้าลักษณากร เกษมสันต์ เดินทางรอนแรมสำรวจ   ทุกพื้นที่ของประเทศ  ได้ตัวอย่างพรรณไม้จากทั่วประเทศมากกว่า 40,000 หมายเลข ในจำนวนนี้เป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกที่พบครั้งแรกในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ในปีพุทธศักราช 2474 กรมตรวจพันธุ์รุกขชาติได้ผนวกรวมกับกรมเพาะปลูก และเปลี่ยนชื่อเป็น “กรมตรวจกสิกรรม”  (กรมวิชาการเกษตรในปัจจุบัน)  โดยให้นายแพทย์ A.F.G. Kerr รั้งตำแหน่งเจ้ากรมกสิกรรม ต่อมามีการขยายงานทางด้านการเกษตรเพิ่มเติมมากขึ้น กรมตรวจพันธุ์รุกขชาติเดิม จึงถูกลดสถานะลงเป็น “กลุ่มงานพฤกษศาสตร์” สังกัดอยู่ในกองพฤกษศาสตร์และวัชพืช และเปลี่ยนเป็น กลุ่มวิจัยพฤกษศาสตร์ สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช“พิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพ” จึงยังคงสังกัดอยู่ในกรมวิชาการเกษตร มีสถานที่ตั้งเดิมอยู่ที่ตึกพืชพรรณ หรือตึกอิงคศรีกสิการซึ่งเป็นอาคารหลังแรกในเกษตรกลางบางเขน


 

ในปีพุทธศักราช 2540 กรมวิชาการเกษตร ตระหนักถึงความสำคัญถึงสมบัติอันล้ำค่าด้านหลักฐานทางประวัติศาสตร์และหลักฐานที่แสดงถึงความหลากหลายแห่งพรรณพืชของประเทศไทยที่มีเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพ จึงมีความประสงค์ที่จะให้การรวบรวมตัวอย่างพรรณพืช เอกสารวิชาการ หนังสือวิชาการทางด้านพฤกษศาสตร์ มีการเก็บรวบรวมอย่างมีคุณค่า อีกทั้งตึกพืชพรรณ ซึ่งเป็นอาคารเก่าแก่ มีพื้นอาคารเป็นพื้นไม้ ทำให้ไม่สามารถรองรับน้ำหนักของตู้ตัวอย่างพรรณไม้ ได้ในระยะยาว จึงได้จัดสรรงบประมาณสำหรับสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์หลังใหม่ เป็นจำนวนเงิน 33 ล้านบาท และสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จมาทรงวางศิลาฤกษ์อาคารพิพิธภัณฑ์พืช แห่งนี้ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2541

 

 

หลังจากนั้นกรมวิชาการเกษตร ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานนามอาคารพิพิธภัณฑ์พืช แห่งนี้และทรงพระราชทานนามว่า “อาคารพิพิธภัณฑ์พืชสิรินธร” โดยเสด็จมาทรงเปิดอาคารแห่งนี้ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2543

อาคารพิพิธภัณฑ์พืชสิรินธร
อาคารพิพิธภัณฑ์พืชสิรินธร มีพื้นที่ใช้สอยรวมทั้งสิ้น 4,238 ตารางเมตร แบ่งออกเป็น 3 ชั้น ดังนี้
ชั้นที่ 1  เป็นพื้นที่งานธุรการและที่ตั้งห้องสมุดพฤกษศาสตร์
ห้องเกษม ( เกษม จันทรประสงค์) เป็นห้องติดต่องานธุรการและติดต่องานทั่วไปของกลุ่มวิจัย
ห้องสมุดอำไพ (อำไพ ยงบุญเกิด) รวบ รวมหนังสือ เอกสารวิชาการ วารสารและสิ่งตีพิมพ์ทางด้านพฤกษศาสตร์ โดยเฉพาะด้านอนุกรมวิธานพืช ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ
ห้องจเร (จเร สดากร) รวบรวมเอกสารสำคัญและหนังสืออนุรักษ์ที่สำคัญ
ห้องลักษณากร (มจ. ลักษณากร เกษมสันต์) เป็นห้องจัดวางแผ่นศิลาฤกษ์และพิธีเปิดอาคารที่ลงพระนามของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน เกี่ยวกับความรู้ด้านพฤกษศาสตร์และงานวิจัยในสาขาที่เกี่ยวข้อง
ห้องบุรฉัตรไชยากร เป็นห้องปฏิบัติการด้านพฤกษศาสตร์และอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
  

ชั้นที่ 2

เป็นที่ตั้งของ พิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพ เป็นพื้นที่รวบรวบตัวอย่างพรรณไม้เพื่อใช้ในการศึกษาด้าน อนุกรมวิธานพืช และเพื่อตรวจสอบชื่อวิทยาศาสตร์ของพืช มีประมาณ 80,000 หมายเลข ส่วนใหญ่เป็นตัวอย่างแห้ง ตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบที่เป็น ตัวอย่างพรรณไม้แรกสำหรับจัดทำคำบรรยายเพื่อใช้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ซึ่งชื่อ เหล่านี้เกือบทั้งหมดพบเป็นครั้งแรกในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีห้องปฏิบัติงานของนักวิชาการและผู้เข้ามาขอใช้ตัวอย่างพรรณไม้
ห้อง Craib  ห้องเก็บรวบรวมตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบ (type specimens) ซึ่งเป็นตัวอย่างอ้างอิงแรกในการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์
ห้อง Kerr เป็นห้องเก็บรวบรวมเอกสารด้านประวัติศาสตร์ของการศึกษาพรรณไม้แห่งประเทศไทยและภาพตัวอย่างพรรณไม้ไทย ปัจจุบันเป็นห้องสำหรับบันทึกข้อมูลพรรณไม้ลงในระบบฐานข้อมูล
ห้องระบิล ห้องนายเนย ห้องนายพุด เป็นห้องปฏิบัติงานของนักพฤกษศาสตร์

   

ชั้นที่ 3

ห้องทรงงานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะองค์ประธานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช แห่งประเทศไทย ที่พระราชทานให้กรมวิชาการเกษตร มีส่วนร่วมในการปฏิบัติภารกิจสนองพระราชดำริ จัดทำระบบฐานข้อมูลพันธุกรรมพืช ที่เก็บสะสมในพิพิธภัณฑ์
ห้องรัชนีแจ่มจรัส เป็น ส่วนของห้องประมวลผลและเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจาก พระราชดำริในสมด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและงานฐานข้อมูลพันธุ์ ไม้
ห้องกสิน (กสิน สุวตพันธุ์) เป็นห้องประชุมเผยแพร่อบรมวิชาการและความรู้ด้านพฤกษศาสตร์และคุ้มครองพันธุ์พืชแก่ผู้สนใจ
ห้องสกล เป็นห้องรวบรวมตัวอย่างดองของพืช
ห้องพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน รวบรวมงานด้านพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน สมุนไพร เครื่องเทศ อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆที่ใช้ไม้เป็นองค์ประกอบ ด้านทิศเหนือยังประกอบด้วยห้องเก็บรวบรวมตัว ตัวอย่างเมล็ด ผล และตัวอย่างเนื้อไม้ของพืช
ห้องรัชนีแจ่มจรัส เป็นพื้นที่ส่วนเก็บข้อมูลโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯและงานฐานข้อมูลพรรณไม้

   

ภายนอกอาคาร รอบอาคารทุกด้านมีการปลูกพรรณไม้ให้ความร่มรื่นและสวยงาม มีส่วนแสดงตัวอย่างพืชในสวนจิรายุพินและ
สวนครูวงค์ แสดงตัวอย่างจริงทั้งที่เป็นพรรณไม้หายาก ที่รวบรวมจากในท้องถิ่นและจากต่างประเทศ ที่เป็นไม้ประดับ สมุนไพรและ
เครื่องเทศ กว่า 300 รายการ  ต้น ลำดวนแดง ( Melodorum fruticousum ) ทรงปลูกเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคาร พิพิธภัณฑ์พืชสิรินธร เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2543
สวนครูวงค์ เป็น ส่วนด้านข้างทางทิศใต้ของอาคารพิพิธภัณฑ์พืชสิรินธร เป็นพื้นที่แสดงพรรณไม้หายากและพรรณไม้ประดับทั้งของไทย และต่างประเทศ จุดเด่นในสวนครูวงค์ คือ ต้นโสกระย้า
สวนจิรายุพิน (จิรายุพิน จันทรประสงค์) เป็นพื้นที่แสดงพรรณไม้ดอกและไม้ใบประดับทั้งของไทยและต่างประเทศ
สวนสมุนไพรและเครื่องเทศ เป็นพื้นที่ปลูกแสดง พรรณไม้ที่มีประโยชน์ที่ใช้เป็นพืชสุมนไพรและเครื่องเทศ เช่น กระวานไทย
จันทน์เทศ ดีปลี ช้าพลู
เรือนรวบรวมพรรณไม้หายาก เป็นโรงเรือนรวบรวมพรรณไม้หายาก ในกลุ่มเฟริ์น กล้วยไม้และพรรณไม้อื่นๆเพื่อการอนุรักษ์ (ส่วนนี้ไม่เปิดแสดงต่อสาธารณะ)
สวนรอบอาคาร เป็นพรรณไม้ยืนต้น เช่น ตะเคียน พะยอม โสกน้ำ หว้าน้ำ ตาเสือ กะเบากลัก ปีบ พรรณไม้พุ่ม เช่น เข็มหลอดยาว พุดตานญี่ปุ่น ไม้ดอกหอมต่างๆ เช่น เขี้ยวกระแต มะลิ พรรณไม้เลื้อย เช่น กันภัยมหิดล พวงทองเถาว์ พวงหยก



Scroll to Top