คำถาม-คำตอบ

เกี่ยวกับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่
1. พืชที่ขอยื่นจดทะเบียนคุ้มครองเป็นพันธุ์พืชใหม่มีกี่ชนิด อะไรบ้าง
          ตอบ  พืชที่รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศให้เป็นพืชใหม่ และรับความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ได้ มี 103 ชนิด แบ่งเป็น 6 กลุ่มพืช ได้แก่

กลุ่มพืชไร่ 1.ข้าว 2.ถั่วเหลือง 3.ถั่วเขียว 4.ปาล์มน้ำมัน 5.สับปะรด 6.ฝ้าย 7.งา 8.อ้อย 9.ข้าวโพด 10.มันสำปะหลัง 11.หญ้าแฝก 12.หญ้าเนเปียร์ 13.ไผ่  14.หญ้ารูซี่ 15.อ้อยักษ์ 16.พืชสกุลแคนนาบิส 17.ถั่วลิสง 18.พืชสกุลหญ้านวลน้อย 19.พืชสกุลยาสูบ 20.พืชสกุลฝ้าย 21.หม่อน 22.พืชสกุลหม่อน

กลุ่มพืชผัก 1.มะเขือเทศ 2.พริก 3.ถั่วฝักยาว 4.มะเขือ 5.บวบเหลี่ยม 6.ฟักทอง 7.ฟัก/แฟง  8.มะระ 9.ถั่วแขก 10.ผักกาดหอม 11.ผักกาดกวางตุ้ง  12.ผักบุ้ง  13.แตงกวา/แตงร้าน  14.ผักคะน้า  15.แตงโม  16.แตงเทศผิวเรียบ/ลายนูน 17.กระเจี๊ยบเขียว  18.กะหล่ำปลี  19.ผักกาดหัว  20.มันเทศ  21.มันฝรั่ง  22.กระเพรา 23.บัวบก 24.หอมแดง

กลุ่มไม้ดอก-ไม้ประดับ 1.โป๊ยเซียน 2.หยก 3.บัว 4.แก้วกาญจนา 5.ลั่นทม 6.ชวนชม 7.บอนสี 8.กล้วยไม้สกุลฟาแลนนอปซีส 9.กล้วยไม้สกุลแคทลียา 10.กล้วยไม้สกุลแวนด้า 11.กล้วยไม้สกุลหวาย 12.กล้วยไม้สกุลซิมบีเดียม 13.พืชสกุลเดป 14.กล้วยไม้สกุลรองเท้านารี 15.ไม้ดอกสกุลขมิ้น  16.พืชสกุลบานชื่น 17.พืชสกุลหน้าวัว 18.พืชสกุลกุหลาบ  19.พืชสกุลลิ้นมังกร 20.พืชสกุลดาวเรือง 21.เบญจมาศ 22.พืชสกุลว่านสี่ทิศ 23.พืชสกุลหม้อข้าวหม้อแกงลิง 24.พืชสกุลยูโฟรเบีย 25.พืชสกุลชายผ้าสีดา 26.กล้วยไม้สกุลซิมบีเดียม และลูกผสม 27.พืชพุทธรักษา

กลุ่มไม้ผล 1.ลำไย 2.ลิ้นจี่ 3.มะม่วง 4.มะขาม 5.มะนาวไทย 6.กลุ่มมะปราง 7.กล้วย 8.ขนุน 9.ทุเรียน 10.มะละกอ 11.ส้มโอ  12.มะเฟือง  13.น้อยหน่า 14.ฝรั่ง  15.ส้มเขียวหวาน  16.เงาะ 17.ยางพารา 18.อะโวคาโด 19.อินทผลัม  20.ชมพู่  21.มะพร้าว  22.พืชสกุลกาแฟ  23.ส้มเช้ง   24.โกโก้และลูกผสม

กลุ่มให้เนื้อไม้ 1.ยูคาลิปตัส 2.กระถินณรงค์ 3.พืชให้เนื้อไม้ในสกุลอะเคเซีย 4.สัก

กลุ่มเห็ด  1.เห็ดถั่งเช่าสีทอง 2.เห็ดสกุลเห็ดร่างแห

2. พันธุ์พืชใหม่แต่ละชนิดมีอายุคุ้มครองกี่ปี
      ตอบ      อายุการคุ้มครอง แบ่งเป็น
– พืชที่ให้ผลผลิตตามลักษณะประจำพันธุ์ได้หลังจากปลูกจากส่วนขยายพันธุ์ภายในเวลา 2 ปี ให้มีอายุ 12 ปี      – พืชที่ให้ผลผลิตตามลักษณะประจำพันธุ์ได้หลังจากปลูกจากส่วนขยายพันธุ์ในเวลาเกินกว่า 2 ปี ให้มีอายุ 17 ปี
– พืชที่ให้ผลผลิตตามลักษณะประจำพันธุ์ได้หลังจากปลูกจากส่วนขยายพันธุ์ในเวลาเกินกว่า 2 ปี ให้มีอายุ 27 ปี

3. หากต้องการยื่นขอจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืช/ชนิดพืชที่ยังไม่ประกาศเป็นพืชใหม่ จะต้องทำอย่างไร ใช้เวลานานเท่าใด
      ตอบ    ให้ทำหนังสือแจ้งกรมวิชาการเกษตร เพื่อขอให้ประกาศพืชชนิดนั้นเป็นพืชใหม่  โดยกรมวิชาการเกษตรจะมอบหมายให้สำนักคุ้มครองพันธุ์พืชดำเนินการเสนอพืชใหม่ ต่อคณะอนุกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช เพื่อพิจารณา และเสนอคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช เพื่อให้รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ประกาศเป็นพืชใหม่ต่อไป

4. พันธุ์พืชที่จะขอยื่นจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ ต้องไม่มีการขาย จำหน่าย จ่ายแจกส่วนขยายพันธุ์ เกินหนึ่งปีหมายความว่าอย่างไร
     ตอบ     พันธุ์พืชที่จะขอจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ต้องเป็นพืชที่ไม่มีการนำส่วนขยายพันธุ์มาใช้ประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นการขายหรือจำหน่ายด้วยประการใด ทั้งในหรือนอกราชอาณาจักรโดยนักปรับปรุงพันธุ์ หรือด้วยความยินยอมของนักปรับปรุงพันธุ์เกินกว่าหนึ่งปีก่อนวันยื่นขอจดทะเบียน

5. การยื่นขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ต้อง ปฏิบัติตาม มาตรา 52 และมาตรา 53 หรือไม่ และต้องปฏิบัติอย่างไร
    ตอบ      มาตรา 52 เป็นการดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปและพันธุ์พืชป่า ในส่วนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในทางการค้า ตามกฎกระทรวง ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอนุญาตเก็บ จัดหา หรือรวบรวมพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปหรือพันธุ์พืชป่า เพื่อการปรับปรุงพันธุ์ ศึกษา ทดลอง หรือวิจัยเพื่อประโยชน์ในทางการค้า และการทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ พ.ศ. 2553 ซึ่งกำหนดให้ ผู้ใดเก็บ จัดหา หรือรวบรวมพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป พันธุ์พืชป่า หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพันธุ์พืชดังกล่าว เพื่อการปรับปรุงพันธุ์ ศึกษา ทดลอง หรือวิจัยเพื่อประโยชน์ในทางการค้า จะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ โดยนำเงินรายได้ตามข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ส่งเข้ากองทุนคุ้มครองพันธุ์พืช          มาตรา 53 เป็นการดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปและพันธุ์พืชป่า ในส่วนที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในทางการค้า ตามระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชว่าด้วย การศึกษา ทดลองหรือวิจัย พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปและพันธุ์พืชป่า ที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ทางการค้า พ.ศ. 2547 ซึ่งกำหนดให้ ผู้ใดทำการศึกษา ทดลองหรือวิจัย พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปและพันธุ์พืชป่า หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของพืชดังกล่าว โดยมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ทางการค้าให้แจ้งเป็นหนังสือตามแบบที่กำหนดต่ออธิบดีกรมวิชาการเกษตร เมื่อตรวจสอบเอกสารแล้ว พบว่า ถูกต้อง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งการรับทราบ (แบบตอบรับการแจ้ง) ต่อผู้แจ้ง โดยที่ผู้แจ้งจะต้องไม่ส่งมอบพันธุ์พืชดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น และเมื่อสิ้นสุดการศึกษา ทดลองหรือวิจัย ผู้แจ้งอาจส่งผลการศึกษา ทดลอง หรือวิจัยนั้น ให้แก่กรมวิชาการเกษตร เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนต่อไป
การยื่นจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ ตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ต้องตรวจสอบว่า ในขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ นั้น นักปรับปรุงพันธุ์ได้ใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป หรือพันธุ์พืชป่าหรือไม่ หากเป็นการใช้ประโยชน์เพื่อการค้าก็ต้องมายื่นอนุญาตฯ ตามมาตรา 52 และจัดทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ แต่หากไม่มีประโยชน์ทางการค้า ขอให้แจ้งตามมาตรา 53 เท่านั้น

เกี่ยวกับการพิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพ
1. การทำหนังสือเพื่อขออนุญาตเข้าใช้บริการพิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพ ต้องทำหนังสือเรียนถึงใคร
    ตอบ   พิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร การทำหนังสือเพื่อขออนุญาตใดใด จึงให้ส่งไปยัง ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร   ที่อยู่ สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร 50 ถ.พหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพ 10900   ทั้งนี้ทั้งนั้น มีมติให้หัวหน้ากลุ่มวิจัยพฤกษศาสตร์และพิพิธภัณฑ์พืช เป็นภัณฑารักษ์โดยตำแหน่ง สามารถสั่งการและวินิจฉัยการให้บริการของพิพิธภัณฑ์พืชได้ ดังนั้น จึงอนุโลมให้สามารถทำหนังสือเพื่อขออนุญาตเข้าใช้พิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพ เรียนมายัง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยพฤกษศาสตร์และพิพิธภัณฑ์พืช สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช ได้อีกช่องทางหนึ่ง  โดยแจ้งความประสงค์ กลุ่มพืชที่ขอเข้าศึกษา ระยะเวลา รายละเอียดชื่อและจำนวนผู้ขอเข้าหอพรรณไม้ ตามแบบฟอร์มที่ ……..และกรุณาอ่านระเบียบการใช้บริการพิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพได้ที่

2. ต้องการส่งตัวอย่างพรรณไม้เพื่อใช้เป็นตัวอย่างพรรณไม้อ้างอิงงานวิจัย (voucher specimens) หรือเพื่อขอหมายเลขอ้างอิงงานวิจัย จะต้องเตรียมตัวอย่างพรรณไม้อย่างไร
     ตอบ   ตัวอย่างที่จะส่งมาขอหมายเลขอ้างอิงงานวิจัยจะต้องเป็นตัวอย่างที่ประกอบด้วยกิ่งที่มีใบสมบูรณ์ มีดอกและ/หรือผลที่สมบูรณ์ โดยจัดและตัดแต่งตัวอย่างลงในกระดาษหนังสือพิมพ์ มีขนาดกว้าง-ยาว ไม่เกิน 25 x 42 ซม. และเห็นส่วนต่างๆ ชัดเจน ได้แก่ ใบทั้งด้านหน้าและหลัง ดอก-ผล ที่ไม่ถูกส่วนอื่นปิดบัง และจะต้องจัดทำแผ่นบันทึกข้อมูลภาคสนามขนาดประมาณ 11 x 15 ซม. โดยระบุรายละเอียดดังนี้ ชื่อวงศ์พืช (family) ชื่อวิทยาศาสตร์ (botanical name) ชื่อพื้นเมือง (local name) วัน เดือน ปี ที่เก็บ (date/month/year) สถานที่เก็บ (locality) ถิ่นที่อยู่ (habitat) บันทึกข้อมูล (notes) ลักษณะต่างๆ ของพืชที่ไม่สามารถเห็นได้เมื่อตัวอย่างแห้ง เช่น ความสูงทั้งต้น เปลือก น้ำยาง กลิ่น สีของดอกและผล เป็นต้น ชื่อและหมายเลขผู้เก็บ (collector name, collector number) และระบุว่าเป็น voucher specimen ของการวิจัยเรื่องใด

3. ตัวอย่างพรรณไม้ในหอพรรณไม้ มาจากไหน ใครเป็นคนรวบรวม
ตอบ   ตัวอย่างพรรณไม้ในหอพรรณไม้ส่วนใหญ่เก็บโดยนักวิชาการของสำนักงานหอพรรณไม้ โดยจะสำรวจและเก็บตัวอย่างพรรณไม้จากพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อนำมาจัดเก็บตามขั้นตอน โดยแบ่งเป็น
1. ตัวอย่างพรรณไม้ที่ได้จากการออกสำรวจและเก็บตามกลุ่มพืชที่ผู้เก็บสนใจศึกษาเป็นหลัก เพื่อเป็นตัวอย่างพรรณไม้อ้างอิง และใช้ในการเทียบเคียงตัวอย่างพรรณไม้สำหรับการศึกษาวิจัยด้านอนุกรมวิธานพืช
2. ตัวอย่างพรรณไม้ที่เก็บตามโครงการศึกษาวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพืช เช่นนิเวศวิทยา
3. ตัวอย่างพรรณไม้ที่ได้รับมาจากหน่วยงานอื่นทั้งภายในและต่างประเทศ หรือ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เก็บมาให้ตรวจวิเคราะห์ วิธีการเก็บตัวอย่างพรรณไม้สามารถทำได้ดังนี้

  • เก็บตัวอย่างโดยเก็บจากกิ่งที่มีใบ ดอก หรือผล และอาจเห็นระยะต่าง ๆ เช่น ใบอ่อน-ใบแก่ ดอกตูม-ดอกบาน ผลอ่อน-ผลแก่ จำนวนตามความเหมาะสม แล้วแต่กรณี
  • บันทึกรายละเอียดต่างๆ ของพรรณไม้ ดังนี้ วัน เดือน ปี ที่เก็บ สถานที่เก็บ ถิ่นที่อยู่ บันทึกข้อมูล ลักษณะต่างๆ ของพืชที่ไม่สามารถเห็นได้เมื่อตัวอย่างแห้ง เช่น ความสูงทั้งต้น เปลือก น้ำยาง กลิ่น สีของดอกและผล เป็นต้น ชื่อและหมายเลขผู้เก็บ
  • ตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ได้ขนาดตามต้องการ โดยขนาดไม่ควรเกินครึ่งหนึ่งของหนังสือพิมพ์หน้าเดียว
  • อัดตัวอย่างพรรณไม้ลงในกระดาษหนังสือพิมพ์ ให้เห็นส่วนประกอบต่าง ๆ ชัดเจน เห็นการเรียงตัวของใบ และใบควรมีทั้งใบคว่ำและหงาย ถ้ามีขนาดใหญ่เกินให้หักพับได้ ระหว่างกระดาษหนังสือพิมพ์ให้สอดกระดาษลูกฟูกคั่นไว้ นำไปใส่แผงอัด รัดให้แน่น
  • นำแผงอัดตัวอย่างพรรณไม้ที่ได้ไปเข้าตู้อบหรือถ้าเป็นตัวอย่างบาง ๆ อาจใช้วิธีการตากแดดจนตัวอย่างพรรณไม้แห้งสนิท ถ้าต้องการเก็บตัวอย่างพรรณไม้นั้นไว้นาน ๆ ให้นำตัวอย่างที่ได้ไปอาบน้ำยาเพื่อป้องกันแมลงต่อไป

4. กระดาษที่หอพรรณไม้ใช้เย็บตัวอย่างพรรณไม้แห้งมีขนาด และความหนาเท่าใด
     ตอบ   ขนาดกว้าง 26.2 เซนติเมตร ยาว 44.3 เซนติเมตร ความหนา 300 แกรม

Scroll to Top