กรมวิชาการเกษตร จัดตั้งสำนักคุ้มครองพันธุ์พืชแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2541 เพื่อเป็นหน่วยงานรองรับการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติพันธุ์พืช (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2545 จัดตั้งกองคุ้มครองพันธุ์พืช เป็นหน่วยงานภายใต้กรมวิชาการเกษตร ต่อมาได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2548 ได้เกลี่ยอัตรากำลังภายในกรมวิชาการเกษตร มาจาก 2 ส่วน คือ 1) ตัดโอนบุคลากรจากหน่วยงานภายในกรมวิชาการเกษตร คือ กลุ่มงานพฤกษศาสตร์และฝ่ายบริหารทั่วไปของกองพฤกษศาสตร์และวัชพืช และจากฝ่ายนำพืชและอนุรักษ์พืชป่า กองควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร และ 2) ตัดโอนบุคลากรจากหน่วยงานอื่น ภายในกรมวิชาการเกษตร โดยความสมัครใจ และเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2554 มีการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับใหม่ คือ กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2554 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2555 เปลี่ยนชื่อจากกองคุ้มครองพันธุ์พืช เป็นสำนักคุ้มครองพันธุ์พืชมีหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้
1. ศึกษา วิจัย และดำเนินการคุ้มครองพันธุ์พืชเพื่อสิทธิประโยชน์และความเป็นเจ้าของพันธุ์พืช
ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชและกฎหมายต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
2. ศึกษา วิจัย และดำเนินการคุ้มครองพันธุ์พืชตามอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการค้าพืช
และพันธุกรรมพืช รวมทั้งศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับการอนุรักษ์พืชที่ใกล้จะสูญพันธุ์
3. ศึกษา วิจัย สำรวจ รวบรวม วิเคราะห์ ตรวจสอบ และจำแนกด้านพฤกษศาสตร์และอนุกรมวิธานพืช
4. ให้บริการวิชาการและเทคโนโลยีแก่เจ้าหน้าที่ เกษตรกร เอกชน และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
5. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติ
เพื่อส่งเสริมให้มีการปรับปรุงพันธุ์ และพัฒนาพันธุ์พืชให้มีพันธุ์พืชใหม่ๆ เกิดขึ้น โดยการส่งเสริม และสร้างแรงจูงใจใหแก่นักปรับปรุงพันธุ์พืชด้วยการให้สิทธิและคุ้มครองตามกฎหมาย ตลอดจนส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ และพัฒนาการใช้ประโยชนพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น และพันธุ์พืชป่า เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ดูแลรักษา และใช้ประโยชน์ในพันธุ์พืชอย่างยั่งยืน