กลุ่มวิจัยพฤกษศาสตร์และพิพิธภัณฑ์พืช

ความเป็นมา

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่างานด้านพฤกษศาสตร์และด้านการเกษตรได้พัฒนาเจริญมากขึ้นควรมีผู้ดูแลและขยายการสำรวจพรรณพฤกษชาติ จึงโปรดเกล้าให้ตั้งแผนกตรวจพันธุ์รุกขชาติขึ้น ฐานะเทียบเท่ากรม สังกัดกระทรวงพานิชย์และคมนาคมในปี พ.ศ. 2463 มีนายแพทย์คาร์ (A.F.G. Kerr)  ชาวอังกฤษเป็นเจ้ากรม นับเป็นจุดเริ่มต้นของพิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์พืชแห่งแรกของประเทศไทย และท่านเป็นผู้ริเริ่มงานพฤกษศาสตร์ของประเทศไทยนับแต่นั้นมา ระยะแรกการตรวจและระบุชื่อวิทยาศาสตร์ ส่วนใหญ่ส่งไปให้ศาสตราจารย์เครบ (W.G.Craib) ซึ่งปฏิบัติงานที่หอพรรณไม้ สวนพฤกษศาสตร์ เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย เป็นผู้ตรวจสอบให้ แม้ภายหลังท่านจะย้ายไปสังกัดสวนพฤกษศาสตร์คิว และมหาวิทยาลัยอะเบอร์ดีน ประเทศสก๊อตแลนด์ ก็ยังรับตรวจสอบ และท่านได้รวบรวมจัดทำหนังสือพรรณไม้ชื่อ Flora Siamensis Enumeration ซึ่งเป็นหนังสือทรงคุณค่าอย่างยิ่งของวงการพฤกษศาสตร์ไทย

ตัวอย่างพรรณไม้แห้งที่นายแพทย์คาร์เก็บรวบรวมและส่งไปรักษาไว้ที่สวนพฤกษศาสตร์คิว ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาประเทศอังกฤษ และพิพิธภัณฑ์พืชมหาวิทยาลัยอะเบอร์ดีน ประเทศสก๊อตแลนด์ อีกส่วนหนึ่ง  เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพจำนวน ในสมัยนั้นมีผู้ติดตามใกล้ชิดและรวบรวมพรรณไม้กับนายแพทย์คาร์ ดังนี้  นายพุด ไพรสุรินทร์ นายระบิล บุนนาค นายเนย อิศรางกูร ณ อยุธยา นางคอลลิน หม่อมเจ้าลักษณากร  เกษมสันต์ นายกสิน สุวตะพันธุ์ และนางสาวอำไพ ยงบุญเกิด

      

ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามลำดับ ซึ่งดูแลและดำเนินงานโดยกลุ่มวิจัยพฤกษศาสตร์และพิพิธภัณฑ์พืช สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช มีการเก็บรักษาตัวอย่างพรรณไม้แห้งมากกว่า 80,000 หมายเลข โดยจัดเรียงตัวอย่างพืชที่มีท่อลำเลียงตามระบบของ Bentham และ Hooker ที่พิจารณาตามลักษณะของพืชที่มีความสัมพันธ์คล้ายคลึงกัน นอกจากตัวอย่างพรรณไม้แห้งแล้ว พิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพมีการเก็บรักษาตัวอย่างพรรณไม้ดอง ตัวอย่างอย่างผลและเมล็ด ด้วย ซึ่งตัวอย่างพรรณไม้เหล่านี้เป็นฐานข้อมูลเบื้องต้นในการก่อเกิดงานศึกษาวิจัยในสาขาอื่นๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรม ตัวอย่างพรรณไม้ที่เก็บสะสมไว้จึงเป็นสมบัติล้ำค่าของชาติเปรียบเสมอได้เช่นเดียวกับสมบัติทางโบราณคดี

บทบาทหน้าที่

  • ศึกษา ค้นคว้า วิจัย สำรวจและรวบรวมข้อมูลพื้นฐานด้านพฤกษศาสตร์ ความหลากหลายของพรรณพืชในประเทศไทย รวมถึงการใช้ประโยชน์จากพรรณไม้ในท้องถิ่นต่างๆ
  • ตรวจสอบลักษณะทางสัณฐานวิทยา หรือคุณสมบัติของพรรณพืช เพื่อให้ข้อมูลชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อท้องถิ่น หรือข้อมูลการใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ
  • ดำเนินงานด้านอนุกรมวิธานพืช การจัดหมวดหมู่ และการจัดการตัวอย่างพรรณไม้อ้างอิงในพิพิธภัณฑ์กรุงเทพ
  • ให้คำปรึกษา ประสานงานและร่วมดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพของพรรณพืชในประเทศไทย กับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกรมวิชาการเกษตร

Scroll to Top