กลุ่มวิจัยอนุสัญญาไซเตสด้านพืช

CITES คืออะไร
             The Convention on International Trade in Dangered Species of Wild Fauna and Flora มีตัวย่อว่า CITES คือ อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่า และพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ บางครั้งเรียกว่าอนุสัญญาวอชิงตัน ตามชื่อสถานที่ลงนามรับรองอนุสัญญาฉบับนี้ ณ กรุงวอชิงตัน ดี ซี ประเทศสหรัฐอเมริกา
อนุสัญญาไซเตสเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่า และพืชป่าในโลก ควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์ทางการค้าซึ่งชนิดพันธุ์เหล่านั้น

ความเป็นมาของอนุสัญญาไซเตส


ในปี ค.ศ. 1960 สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ และทรัพยากรธรรมชาติ (The International Union for Conservation of Nature and Natural Resources : IUCN) ได้เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญต่อการนำเข้าสัตว์ป่า โดยกำหนดมาตรการภายประเทศอย่างรัดกุม ภายหลังจากนั้นอีก 3 ปี IUCN ได้ผ่านข้อมติเกี่ยวกับการส่งออก และนำเข้าสัตว์ป่าต่าง ๆ ที่มีชื่อว่า “ An International Convention on Export Transit of Rare or Threatened Wildlife Species of Their Skins and Trophies” ต่อมาในปี ค.ศ. 1964 ได้นำมติดังกล่าวมายกร่างขึ้นเป็นกฎหมาย และในปี ค.ศ. 1972 ในกระประชุมขององค์การสหประชาชาติ ณ กรุงสตอคโฮล์ม เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์  (The United Nation Stockholm Conference on The Human Environment) ได้มีการรับรองร่างอนุสัญญาระหว่างประเทศซึ่งเกี่ยวกับการค้าสัตว์ป่า และพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ โดยมีสมาชิก 88 ประเทศให้การรับรอง หลังจากนั้นในวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1973 ประเทศต่างๆ จำนวน 21 ได้ลงนามรับรองอย่างเป็นทางการต่ออนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่า และพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรืออนุสัญญาไซเตส ณ กรุงวองชิงตัน ดี ซี ประเทศสหรัฐอเมริกา อนุสัญญาฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1975 หลังการให้สัตยาบันสารของประเทศต่าง ๆ รวม 10  ประเทศ สำนักงานเลขาธิการของอนุสัญญาฯ ปัจจุบันตั้งอยู่ ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งได้รับการสนับสนุน และก่อตั้งโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Environment Program: UNEP) ปัจจุบัน อนุสัญญาไซเตสมีประเทศสมาชิก 183 ประเทศ (มีนาคม 2560) ประเทศไทย เข้าเป็นภาคีอนุสัญญา อย่างสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2526 ด้วยเหตุผลที่ว่าอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่า และพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ จะเอื้ออำนวยให้ประเทศไทยสามารถควบคุม การลักลอบส่งสัตว์ป่า และพืชป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำการนำเข้า ส่งออก และนำผ่านแดน ได้สะดวกมากขึ้น อีกทั้งเพื่อความร่วมมือกับประเทศภาคีอื่น ๆ ในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่า และพืชป่ามิให้สูญพันธุ์

Scroll to Top