วันนี้ (30 มิ.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า สถานีวิทยุเยาวชนลาว (Lao Youth Radio FM 90.0 Mhz) ได้โพสต์ภาพเจ้าหน้าที่พ่นยากำจัดศัตรูพืช ระบุว่า สำนักงานเกษตรและป่าไม้เมืองซำเหนือ เมืองเอกของแขวงหัวพัน ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของแขวงเชียงขวาง ติดกับประเทศเวียดนาม ลงพื้นที่ฉีดยาปราบศัตรูพืช เพื่อควบคุมการระบาดของฝูงตั๊กแตนไม้ไผ่ ใน 2 หมู่บ้าน คือบ้านเพียงคั้ง-ห้วยเสียง กับบ้านเฮาเหนือ พร้อมกับให้ชาวบ้านหลีกเลี่ยงเข้าไปในพื้นที่ควบคุม สอนการใช้ยาปราบศัตรูพืช และเรียกร้องให้ช่วยกันเฝ้าระวังไม่ให้ตั๊กแตนแพร่ลามไปยังเขตอื่นๆ หากพบการแพร่ระบาดให้รายงานภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขให้ทันการณ์
สำหรับตั๊กแตนไผ่ (Ceracris kiangsu) เป็นคนละชนิดกับตั๊กแตนทะเลทราย ที่ขณะนี้มีการแพร่ระบาดจากแอฟริกาใต้มายังตะวันออกกลางและเอเชีย โดยข้อมูลจาก สำนักวิจัยและพัฒนาและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ตั๊กแตนไผ่ พบครั้งแรกที่มณฑลเสฉวน หูเป่ย เกียงสู หูหนาน เกียงสี ฝูเจียน และ กวางตุ้ง ของจีน ในปี 2472 แล้วระบาดอย่างรุนแรงในปี 2478-2479 สำหรับประเทศไทย พบเมื่อปี 2512 ที่จังหวัดเชียงใหม่ และ สุพรรณบุรี แต่ไม่มีรายงานการระบาดในประเทศขณะนั้น ปัจจุบันจะพบแพร่กระจายในบริเวณพื้นที่ป่าไผ่ทางตอนใต้ของจีนที่ระดับสูงกว่าระดับน้ำทะเล 300-400 จนถึง 780 เมตร สร้างความเสียหายให้แก่พืชเกษตร อาทิ พืชตระกูลไผ่ พืชตระกูลหญ้า พืชตระกูลปาล์ม ข้าว และข้าวโพด
ส่วนตั๊กแตนทะเลทราย (Schistocerca gregaria) ข้อมูลจากสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า เมื่อตัวเต็มวัยจะมีลักษณะเป็นสีน้ำตาล หรือ สีเหลือง หากอยู่แบบเดี่ยวมีสีน้ำตาล แต่ถ้าอยู่รวมเป็นกลุ่ม จะมีลักษณะตัวอ่อนสีชมพู และตัวเต็มวัยสีเหลือง ออกหากินในเวลากลางคืน วงจรชีวิต 2-6 เดือน สูงสุด 9 เดือน โดยผสมพันธุ์และวางไข่ลักษณะคล้ายเมล็ดข้าว เรียงเป็นฝัก 1-3 ฝัก แต่ละฝักมีจำนวนไข่ 90-160 ฟอง รูปร่างเป็นทรงกระบอกยาว 3-4 เซนติเมตร ในดินร่วนปนทราย ลึกประมาณ 5-10 เซนติเมตร เมื่อฟักเป็นตัวอ่อนจะใช้เวลาเติบโต 30-40 วัน โดยจะลอกคราบ 5-6 ครั้ง ตัวอ่อนวัยแรกจะมีสีดำ ก่อนจะลอกคราบเป็นสีดำสลับเหลือง
เป็นตั๊กแตนที่อพยพเป็นกลุ่มใหญ่ระยะทางไกล บินตามกระแสลมด้วยความเร็วประมาณ 16-19 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บินสูงถึง 2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล บินได้นาน 10 ชั่วโมงต่อครั้ง สามารถเดินทางได้ตั้งแต่ 5-130 กิโลเมตร ออกหากินในเวลากลางคืน เพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็วในช่วงฤดูฝนที่มีพืชอาหารอุดมสมบูรณ์ สภาพที่เหมาะสมได้แก่ พื้นที่โล่ง ดินร่วนปนทราย มีความชื้น มีอาหารอุดมสมบูรณ์ มีประชากรตั้งแต่ 40-80 ล้านตัวต่อ 1 ตารางกิโลเมตร กินพืชได้หลายชนิด รวมถึงพืชสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวบาร์เลย์ อ้อย หญ้าเลี้ยงสัตว์ ฝ้าย ไม้ผล พืชผัก และ วัชพืช จัดเป็นศัตรูพืชที่มีความร้ายแรงระดับโลก กินได้ทุกส่วนของพืชทั้งใบ ลำต้น ดอก ผล เมล็ด และราก และสามารถกินอาหารได้ตลอดอายุขัย
ตั๊กแตนตัวเต็มวัยสามารถกินอาหารได้ในปริมาณเท่าน้ำหนักตัวต่อวัน หากมีการระบาดจะเกิดความเสียหายรุนแรง รวดเร็ว และเกิดความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ที่ผ่านมา องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) เตือนภัยตั๊กแตนทะเลทรายระบาดร้ายแรงที่สุดในรอบ 25 ปี ในแอฟริกาและกำลังแพร่ระบาดเข้าตะวันออกกลางและอินเดีย เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ปัจจุบันพบการระบาดของฝูงตั๊กแตนในประเทศเคนยา เอธิโอเปีย เอริเทรีย โซมาเลีย ซูดานใต้ อูกันดา จิบูตี เยเมน โอมาน ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน อินเดีย และ ปากีสถาน
ขณะที่ เว็บไซต์ เดอะ กาฐมาณฑุ โพสต์ สื่อออนไลน์ของเนปาล รายงานสถานการณ์ตั๊กแตนทะเลทราย ว่า ฝูงตั๊กแตนทะเลทรายจากประเทศอินเดียได้เข้ามาในประเทศเนปาล เมื่อวันเสาร์ที่ 27 มิ.ย. ที่ผ่านมา แต่ไม่มีรายงานความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตรที่ชัดเจน โดย นายสหเดว พราสาด ฮูมาเกน (Sahadev Prasad Humagain) หัวหน้าศูนย์บริหารจัดการกักกันพืชและสารกำจัดศัตรูพืช กระทรวงเกษตรของเนปาล กล่าวว่า แม้ยังไม่ได้รับรายงานความเสียหายที่มีนัยสำคัญมาจากตั๊กแตนทะเลทราย แต่เราบอกไม่ได้ว่าขณะนี้ภัยอันตรายได้ผ่านพ้นไปแล้วหรือไม่
ขณะนี้กระแสลมจากทางทิศใต้เข้ามาทางประเทศเนปาล และมีแนวโน้มที่จะพัดผ่านไปอีกประมาณ 2-3 วัน หากมีฝูงตั๊กแตนหลงเหลืออยู่ทางฝั่งอินเดียตามแนวชายแดน อาจเข้าสู่ประเทศเนปาลด้วยลมที่พัดมา แต่ฝูงตั๊กแตนที่เข้ามาในเนปาลเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมายังมีขนาดเล็ก และยังเร็วเกินไปที่จะรายงานความเสียหาย ขณะนี้ฝูงตั๊กแตนทะเลทรายกำลังเคลื่อนจากรัฐราชสถาน ไปยังกรุงนิวเดลีของอินเดีย กระแสลมกำลังเข้าสู่ประเทศเนปาล ซึ่งสามารถพัดพาแมลงเข้ามาได้ หากทางการอินเดียควบคุมได้ ฝูงตั๊กแตนจะเหลือเพียงกลุ่มเล็กๆ แต่ถ้าพบว่าฝูงตั๊กแตนกลุ่มใหญ่เข้ามาในเนปาลจะสร้างปัญหามากมาย จึงต้องตื่นตัวอยู่เสมอ
ส่วนความเคลื่อนไหวในประเทศไทย พบว่า สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ได้มีมาตรการการเฝ้าระวังตั๊กแตนทะเลทรายในประเทศไทยรองรับเอาไว้แล้วตั้งแต่ต้นปี 2563 โดยติดตามสถานการณ์การระบาดและทิศทางการเคลื่อนย้ายในต่างประเทศ และสำรวจแปลงพืชอาหารของตั๊กแตนทะเลทรายที่อยู่ในบริเวณชายแดนประเทศเพื่อนบ้านที่มีรายงานการระบาด ตรวจเช็กชนิดของตั๊กแตน พร้อมเก็บตัวอย่างนำส่งเพื่อนำมาจำแนกชนิด
ในกรณีพบในประเทศไทย เมื่อตรวจพบตั๊กแตนทะเลทราย ให้ทำการป้องกันกำจัดโดยวิธีการที่เหมาะสม เช่น วิธีกลโดยใช้ตาข่ายหรือสวิงจับตัวตั๊กแตนมาทำลายเพื่อป้องกันไม่ให้ตั๊กแตนผสมพันธุ์และวางไข่ การใช้สารเคมี การใช้ชีววิธีโดยพ่นด้วยเชื้อราเขียว (Metarhizium anisopliae) หรือ สารชีวภัณฑ์อื่นๆ เช่น เชื้อโปรโตซัว และถ้ามีการระบาดรุนแรงก่อให้เกิดความเสียหายต่อพืชผลการเกษตรเป็นวงกว้าง จังหวัดอาจจะพิจารณาประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ อีกวิธีหนึ่ง คือ การนำตั๊กแตนทะเลทรายมาบริโภค โดยการทอดให้สุก เช่นเดียวกับตั๊กแตนปาทังก้า
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ น.ส.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ระบุว่า โอกาสที่ตั๊กแตนจะแพร่ระบาดเข้ามาถึงประเทศไทยมีน้อยมาก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่ร้อนชื้นของประเทศไทย ไม่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตและการตั้งรกรากเพื่อขยายพันธุ์ของแมลงชนิดนี้ ซึ่งชอบสภาพอากาศแห้งแล้งแบบทะเลทราย รวมทั้งกระแสลมตะวันออกจะพัดพาตั๊กแตนให้บินไปทิศตะวันตกมากกว่าที่จะมาถึงไทย แต่ได้จัดทำมาตรการเฝ้าระวังและวางแผนที่จะทำการสำรวจ เพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันการเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทยไว้ล่วงหน้าแล้ว