ระวัง…ทุเรียนเน่าในระบาดหนักหน้าฝน

          นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรปลูกทุเรียนพื้นที่ในภาคตะวันออกและภาคใต้ของไทยให้เฝ้าระวังโรคผลเน่าทุเรียนบุกสวน เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงนี้ กลางวันร้อนและมีฝนตก เอื้อให้เชื้อราก่อโรคเจริญเติบโตได้ดี และยังมีลมและฝนพัดพาให้เชื้อราระบาดได้รวดเร็ว

          โรคนี้สามารถพบได้ตั้งแต่ระยะผลอ่อน แต่ส่วนใหญ่มักพบในผลทุเรียนอายุ 1 เดือนก่อนเก็บเกี่ยวไปจนถึงบ่มผลให้สุก อาการเริ่มแรกจะเกิดจุดแผลขนาดเล็กสีน้ำตาลดำบนผล จุดแผลจะขยายใหญ่ลุกลามมากขึ้น ถ้าอากาศความชื้นสูงจะพบเส้นใยสีขาวของเชื้อราบนแผล

          อธิบดีกรมวิชาการเกษตรแนะวิธีการดูแลในแปลงปลูก หมั่นตรวจผลทุเรียน ตัดผลที่เป็นโรค และเก็บผลเน่าที่ร่วงหล่นนำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เมทาแลกซิล 25% ดับเบิลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่ม 1-2 ครั้ง ทุก 7-10 วัน หยุดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยวผลอย่างน้อย 15 วัน ไม่นำเครื่องมือตัดแต่งที่ใช้กับต้นเป็นโรคไปใช้ต่อกับต้นปกติ พร้อมทำความสะอาดเครื่องมือก่อนนำไปใช้ใหม่ทุกครั้ง

          ส่วนในแปลงปลูกที่มีโรครากเน่าและโคนเน่าในแปลงมาก เชื้อก่อโรคอาจจะติดไปกับผลได้โดยยังไม่แสดงอาการ การเก็บเกี่ยวผลต้องระวังไม่ให้ผลสัมผัสดิน ด้วยการปูกระสอบที่สะอาดไว้วางผลทุเรียน เพื่อลดโอกาสผลจะสัมผัสกับดิน และการขนย้ายควรระมัด ระวังไม่ให้เกิดบาดแผลที่ผล

          นางสาวเสริมสุข ยังได้แนะถึงวิธีป้องกันหลังการเก็บเกี่ยว หากในแปลงปลูกพบผลเน่าต้นละ 1 หรือสวนที่มีโรครากเน่าและโคนเน่าระบาดรุนแรง ให้ฉีดพ่นผลด้วย ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ก่อนเก็บผลทุเรียน 30 วัน

          เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วให้จุ่มผลทุเรียนด้วย อิมาซาลิล ความเข้มข้น 500 มิลลิกรัมต่อลิตร 3 นาที หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม ความเข้มข้น 2,000 พีพีเอ็ม 2 นาที หลังการเก็บเกี่ยวทันที และผึ่งให้แห้งก่อนขนส่งโดยห้องเย็นที่อุณหภูมิ 15 ํc จะช่วยลดความเสียหายจากการแสดงอาการผลเน่าได้ มีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกพืช กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช 0-2579-9583.