วันที่ 9 กันยายน 2567 – นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการประจำปี 2567 สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช เพื่อติดตามและรายงานผลสัมฤทธิ์ภายใต้แผนงาน/โครงการวิจัย จากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2567 ของสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ให้กับบุคลากรของสำนัก และหน่วยงานประเมินผลของกรมวิชาการเกษตรที่เข้าร่วมประชุม จำนวน 140 คน
นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ กล่าวว่า สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานวิจัยด้านอารักขาพืชหลักของประเทศ มีหน้าที่ศึกษา ค้นคว้า วิจัย สำรวจและรวบรวมเกี่ยวกับแมลง สัตว์ศัตรูพืช โรคพืช วัชพืช รวมทั้งวิธีป้องกันและกำจัดที่เหมาะสม และให้บริการวิชาการและเทคโนโลยีแก่เจ้าหน้าที่ เกษตรกร ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการประชุมในวันนี้ เป็นการติดตามและรายงานผลสัมฤทธิ์โครงการวิจัย ของสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2567 เพื่อให้ผู้บริหาร นักวิจัย และ เจ้าหน้าที่ ของสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และผู้เข้าร่วม ได้รับทราบความก้าวหน้า ความสำเร็จ ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคของงานวิจัย และงานด้านอื่นๆ ของหน่วยงานภายในของสำนัก สามารถนำผลงานไปใช้ประโยชน์และผลงานดีเด่นของหน่วยงานเผยแพร่สู่สาธารณชน และร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และเพื่อสรรสร้างโครงการวิจัยในอนาคตที่จะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์วิจัย และเพื่อให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรและประเทศอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของงานวิจัยด้านอารักขาพืช ที่เป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ตามนโยบายขับเคลื่อนภาคการเกษตรด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีโดยมีตลาดเป็นตัวนำ จึงมอบหมายให้สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช วางแผน/ปรับแผนงานวิจัยให้สอดรับกับเทคโนโลยีการเกษตรที่เปลี่ยนไป เช่น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ด้านอารักขาพืช การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ เพื่อนำไปสู่การลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้เทคโนโลยีโดรนและดาวเทียมด้านอารักขาพืช ตลอดจนเทคโนโลยีการผลิตที่เกี่ยวข้อง อาทิ การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM) GAP และ GAP/PM2.5 เป็นต้น นายรพีภัทร์ กล่าวทิ้งท้าย
นางช่อทิพย์ ศัลยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในการประชุมครั้งนี้ มีการนำเสนอบรรยายเสนอผลสัมฤทธิ์จากงานวิจัยปี 2565 – 2567 ของกลุ่มกีฏและสัตววิทยา กลุ่มวิจัยโรคพืช กลุ่มวิจัยวัชพืช กลุ่มวิจัยการกักกันพืช และกลุ่มบริหารศัตรูพืช รวมจำนวน 5 กลุ่ม และการนำเสนอผลงานวิจัยภาคโปสเตอร์ จำนวน 25 เรื่อง และการบรรยายพิเศษ เรื่อง “Carbon footprint ในภาคเกษตรและการลดการปล่อยก๊าซ เรือนกระจกในการอารักขาพืช” โดยผู้บรรยายพิเศษประกอบด้วย รศ.ดร.ชัยณรงค์ รัตนกรีฑากุล ดร.พัชรี มั่นคง และ ดร.พฤทธิชาติ ปุญวัฒโท ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของสภาวะแวดล้อมและภูมิอากาศ ทำให้เกิดโรคและแมลงศัตรูพืชอุบัติใหม่ ท้าทายและส่งผลกระทบต่อระบบการผลิตพืช ต้องมีแนวทางในการประเมินและกลยุทธ์การลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ในงานอารักขาพืช ซึ่งภาคการเกษตรเป็นต้นเหตุในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร่งความมั่นคงทางอาหารให้เพียงพอต่อประชากรโลก โดยมีแนวทางการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชของประเทศไทยที่มีการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
ในการนี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้ให้เกียรติมอบรางวัลนักวิจัยดีเด่น นางสาวสัญญาณี ศรีคชา และข้าราชการดีเด่น นายสิริชัย สาธุวิจารณ์ แก่บุคลากรของสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานให้แก่บุคลากร ตามนโยบาย DOA Together ของกรมวิชาการเกษตร