การประชุมคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช ครั้งที่ 1/2567 เพื่อพิจารณารับรองพันธุ์พืช 10 พันธุ์ วันที่ 26 มิถุนายน 2567 นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช ครั้งที่ 1/2567 ณ ห้องประชุม ชั้น 2 สำนักงานอธิบดีกรมวิชาการเกษตร อาคารฝึกอบรมด้านมาตรฐานการผลิตพืช กรมวิชาการเกษตร โดยมีคณะกรรมการร่วมการประชุมประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภายนอก คณะผู้บริหาร ผู้อำนวยการกอง/สถาบัน/สำนัก กรมวิชาการเกษตร และมีผู้อำนวยการ กองแผนงานและวิชาการ (นางศศิญา ปานตั้น) ร่วมกับทีมกลุ่มระบบวิจัย กลุ่มวิเคราะห์การใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย ทำหน้าที่คณะกรรมการและเลขานุการ และเพื่อพิจารณารับรองพันธุ์พืชใหม่ๆ กรมวิชาการเกษตร ก่อนเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัยด้านพันธุ์พืชของกรมฯ ให้เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจ นำไปปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อสร้างรายได้ต่อไป สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้แถลงวิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND” จุดประกายเกษตรไทย สู่การเป็นศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก ซึ่งมีความมุ่งมั่นยกระดับภาคเกษตรกรรม ส่งเสริมเกษตรกรไทย ด้วยการใช้ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” พร้อมผลักดันเป้าหมายสร้างรายได้เกษตรกรไทยเพิ่มขึ้น 3 เท่าใน 4 ปี สรุปผลงานด้านพันธุ์ประจำปี 2567 จำนวน 10 พันธุ์ ดังนี้ กระเจี๊ยบเขียวพันธุ์ กวก. กาญจนบุรี 1 ฟ้าทะลายโจรสายพันธุ์ กวก. พิจิตร 1 สับปะรดพันธุ์ กวก. เพชรบุรี 3 ถั่วฝักยาวสีม่วงพันธุ์ กวก. พิจิตร 1 กาแฟอะราบิกาพันธุ์ กวก.เชียงใหม่ 1 ถั่วหรั่งพันธุ์ กวก. สงขลา 3 เห็ดฟางพันธุ์ กวก. สทช. 1 เห็ดเป๋าฮื้อพันธุ์ กวก. สทช. 1 เห็ดถั่วฝรั่งพันธุ์ กวก. สทช. 1 และเห็ดภูฏานลูกผสมพันธุ์ กวก. สทช. 1 โดยมีทีมนักปรับปรุงพันธุ์ทั้ง 10 พันธุ์ เข้าร่วมการประชุมเพื่อชี้แจงและให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรมุ่งหวังว่าผลงานด้านพันธุ์พืชดังกล่าว จะทำให้เกษตรกรสนใจนำพันธุ์พืชดังกล่าวไปเป็นทางเลือกหนึ่งในการนำไปปลูกในพื้นที่ เพื่อเป็นการสร้างรายได้กลับคืนให้เกษตรกรได้เพิ่มขึ้น
Category: Uncategorized
วันที่ 25 มิถุนายน 2567 นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการดำเนินงานวิจัยด้านการเกษตร ครั้งที่ 1/2567 ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting และห้องประชุมสำนักงานอธิบดี ชั้น 2 อาคารฝึกอบรมด้านมาตรฐานการผลิตพืช กรมวิชาการเกษตร โดยคณะกรรมการร่วมการประชุมประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานจากหน่วยงานภายนอก สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และกรมทรัพย์สินทางปัญญา และคณะกรรมการในส่วนของกรมวิชาการเกษตร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตพืช (นายสรุกิตติ ศรีกุล) ผู้อำนวยการกองคลัง (นางเพลิน สิริวีระพันธุ์) มีผู้อำนวยการกองแผนงานและวิชาการ (นางศศิญา ปานตั้น) ทำหน้าที่คณะกรรมการและเลขานุการ เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการวิจัยด้านการเกษตรที่สำคัญ ประจำปี 2567 ขานรับนโยบายรัฐบาล “ IGNITE THAILAND ” จุดประกายเกษตรไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วยการใช้ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” พร้อมผลักดันเป้าหมายสร้างรายได้เพิ่ม จำนวน 6 โครงการ ได้แก่ การพัฒนากระบวนการผลิต Biochar จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อพัฒนาเป็นวัสดุปลูกพืชมูลค่าสูง การทดสอบประสิทธิภาพด้วงงวง ซี-ซัลวิเนียควบคุมจอกหูหนูยักษ์ในแหล่งน้ำธรรมชาติ การขยายผลการผลิตเมล็ดงอกปาล์มน้ำมันและเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองพันธุ์ดีของกรมวิชาการเกษตรอย่างเร่งด่วนเพื่อเพิ่มผลผลิต/คุณภาพผลผลิต ลดต้นทุนสร้างรายได้ให้เกษตรกรให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศการขยายผลเทคโนโลยีการผลิตท่อนพันธุ์ต้านทานโรคใบด่างมันสำปะหลังของกรมวิชาการเกษตรอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลังอย่างยั่งยืนและการขยายผลเทคโนโลยีการผลิตหัวพันธุ์หอมแดงสะอาดของกรมวิชาการเกษตร ตามมาตรการบริหารจัดการพืชเศรษฐกิจตัวรอง ตามขั้นตอนเงินรายได้จากการดำเนินงานวิจัยด้านการเกษตร ภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายเงินรายได้จากการดำเนินงานวิจัยด้านการเกษตร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ได้มี ผอ.กลุ่มเงินนอกงบประมาณ (นายสิทธิเดช มีนิล) ผอ.กลุ่มติดตามและประเมินผล (น.ส.ปฏิมา ประภาสะวัต) และผอ.กลุ่มระบบวิจัย (น.ส.วิยวรรณ บุญทัน) และหัวหน้าโครงการวิจัย เข้าร่วมการประชุมเพื่อชี้แจงและให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้วย
วันที่ 19 มิถุนายน 2567 นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มอบหมายให้ ดร. สุรกิตติ ศรีกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตพืช เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช ครั้งที่ 4/2567 ณ ห้องประชุมใหญ่ชั้น 2 อาคารศูนย์ปฏิบัติการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับคณะผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านพืชสวน พืชไร่ และผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาเฉพาะด้านเข้าร่วมให้ข้อมูลทางวิชาการงานด้านการปรับปรุงพันธุ์ เพื่อพิจารณารับรองพันธุ์ พันธุ์แนะนำ พันธุ์รับรอง ตามขั้นตอนของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งในการประชุมดังกล่าวมีพันธุ์เห็ดเสนอเข้าพิจารณา จำนวน 4 สายพันธุ์ ประกอบด้วย เห็ดฟาง เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดถั่วฝรั่ง และเห็ดภูฏานลูกผสม ก่อนเสนอคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชรับรองตามขั้นตอนกรมฯ ก่อนนำไปพันธุ์พืชไปขยายผลต่อยอดและใช้ประโยชน์สู่กลุ่มเกษตรกรเป้าหมายและเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มีคุณภาพเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และเป็นทางเลือกให้เกษตรกรได้
วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน 2567 เวลา 09.30 เป็นต้นไป นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้มอบหมาย ดร.ณัฎฐิมา โฆษิตเจริญกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพืช ร่วมกับ ดร.ศุภกาญจน์ ล้วนมณี ผู้เชี่ยวชาญด้านดินและปุ๋ย, นายสุริพัฒน์ ไทยเทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านปรับปรุงพันธุ์พืชไร่ คณะเจ้าหน้าที่ด้านการบริหารจัดการงานวิจัยและงบประมาณงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร (กลุ่มระบบวิจัย กลุ่มวิเคราะห์การใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย กลุ่มติดตามและประเมินผล กองแผนงานและวิชาการ และกลุ่มเงินนอกงบประมาณ กองคลัง) ให้การต้อนรับคณะอาจารย์และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในการประชุมเพื่อให้ข้อมูลและสัมภาษณ์ในประเด็นความต้องการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมสำหรับการสนับสนุนการกระบวนการทำงานของหน่วยงานเพื่อปิดช่องว่างการพัฒนา (Room of improvement) และก้าวข้ามความท้าทาย (Challenge) เพื่อนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการขยายตัวของอุตสาหกรรมประเทศอย่างยั่งยืน และเยี่ยมชมโครงสร้างพื้นฐาน (site visit) ภายใต้โครงการศึกษาแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) รวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของหน่วยงาน ณ ห้องประชุม 201 ชั้น 2 ตึกกสิกรรม กรมวิชาการเกษตร
การประชุมคณะอนุกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช ครั้งที่ 3/2567 วันที่ 30 พฤษภาคม 2567 นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มอบหมายให้ ดร. สุรกิตติ ศรีกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตพืช เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช ครั้งที่ 3/2567 ณ ห้องประชุมอารียันต์ ชั้น 3 ตึกจักรทอง สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตรร่วมกับคณะผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านพืชสวน พืชไร่ และผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาเฉพาะด้านเข้าร่วมให้ข้อมูลทางวิชาการงานด้านการปรับปรุงพันธุ์ เพื่อพิจารณารับรองพันธุ์ พันธุ์แนะนำ พันธุ์รับรอง ตามขั้นตอนของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งในการประชุมดังกล่าวมีพันธุ์เห็ดเสนอเข้าพิจารณา จำนวน 4 สายพันธุ์ ประกอบด้วย เห็ดฟางสายพันธุ์ Vvol035 เห็ดเป๋าฮื้อสายพันธุ์ No.14 เห็ดถั่วฝรั่งสายพันธุ์ Comatus3 และเห็ดภูฏานลูกผสมสายพันธุ์ P3xSB24 ก่อนเสนอคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชรับรองตามขั้นตอนกรมฯ ก่อนนำพันธุ์พืชไปขยายผลต่อยอดและใช้ประโยชน์สู่กลุ่มเกษตรกรเป้าหมายและเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มีคุณภาพเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และเป็นทางเลือกให้เกษตรกรได้