นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานในการประชุมคณะทำงานดูแลสิทธิประโยชน์ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ครั้งที่ 5/2567 วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09.30 – 14.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ชั้น 5 ตึกกสิกรรม กรมวิชาการเกษตร และผ่านระบบออนไลน์ (Zoom Application) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นในการต่ออายุสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร “สูตรและกรรมวิธีการผลิตปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์สำหรับข้าว” ให้กับผู้ประกอบการ จำนวน 1 ราย

ตามที่กรมวิชาการเกษตร ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและการต่อยอดงานวิจัยภาคการเกษตร (MOU) กับ 8 หน่วยงาน ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของ (MOU) ดังกล่าว นายพงศ์ไท ไทโยธิน รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร จึงเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและการต่อยอดงานวิจัยภาคการเกษตร ครั้งที่ 2/2567 วันอังคารที่ 20 สิงหาคม 2567 เวลา 09.30 – 14.00 น. ณ ห้องประชุม 201 ชั้น 2 ตึกกสิกรรม กรมวิชาการเกษตร และผ่านระบบออนไลน์ (ZOOM Meeting) เพื่อสรุปผลและรายงานก้าวหน้าการขับเคลื่อนเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ปีงบประมาณ 2567 และกรมวิชาการเกษตร ได้มีการเสนอเทคโนโลยีที่พร้อมจะถ่ายทอดให้กับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ในครั้งนี้ 3 เทคโนโลยีได้แก่

  1. เทคโนโลยีระบบให้น้ำอัจฉริยะในพืชไร่ (มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์)           
  2. เทคโนโลยีการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายวัสดุอินทรีย์
  3. เทคโนโลยีชีวภัณฑ์แบคทีเรีย Bacillus subtilis สายพันธุ์ BS-DOA 19W6 เพื่อควบคุมโรคแอนแทรคโนสของพริก

โดยนายพงศ์ไท ไทโยธิน รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้มอบหมายให้ นางศศิญา ปานตั้น ผู้อำนวยการกองแผนงานและวิชาการ เป็นประธานในการประชุมเตรียมจัดงานเปิดบ้านงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร ประจำปี 2567 วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม 2567 เวลา 14.00 – 18.30 น. ณ ห้องประชุมอารียันต์ ชั้น 3 ตึกจักรทอง สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร และผ่านทางระบบออนไลน์ โดยในการจัดงานเปิดบ้านงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร ประจำปี 2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีศักยภาพ และมีความพร้อมในการนำไปใช้ประโยชน์ผลความสำเร็จจากการดำเนินงาน และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และข้อคิดเห็นระหว่างนักวิจัย เกษตรกร ผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และผู้บริหาร ผลักดันให้เกิดช่องทางการเชื่อมโยงผลงานวิจัยระหว่างผู้ผลิตงานวิจัยกับผู้ใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย

วันที่ 2-4 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 กลุ่มวิเคราะห์การใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย กองแผนงานและวิชาการ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร “การสร้างเนื้อหา (Content) ผลงานวิจัยให้น่าสนใจเพื่อนำไปใช้เผยแพร่” ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในการทำเนื้อหาผลงานวิจัยให้น่าสนใจอย่างสร้างสรรค์และสามารถสื่อสารให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจผลงานวิจัยได้อย่างง่าย โดยฝึกปฏิบัติให้แก่นักวิจัยที่เข้าร่วมอบรมในการสร้างเนื้อหา (Content) การเล่าเรื่อง (Content Story) และ การจัดทำวีดีโอ (Video Content) อันนำไปสู่การเผยแพร่องค์ความรู้ผลงานวิจัยให้มีความเข้าใจง่าย เนื้อหามีความน่าสนใจ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเป็นวงกว้าง

นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานในการประชุมคณะทำงานดูแลสิทธิประโยชน์ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ครั้งที่ 3/2567 วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.30 – 14.00 น. ณ ห้องประชุม 201 ชั้น 2 ตึกกสิกรรม กรมวิชาการเกษตร และผ่านระบบออนไลน์ (Zoom Application) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นในการอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร และพิจารณาทบทวนการกำหนดสิทธิประโยชน์ เงื่อนไข และค่าตอบแทนการถ่ายทอดเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ จำนวน 4 เทคโนโลยี ให้กับผู้ประกอบการ ดังนี้
1. เทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟต
2. เทคโนโลยีชุดตรวจสอบอย่างง่ายค่าความเป็นกรด-ด่าง อินทรียวัตถุ-ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมในดิน (DOA-pH, OM, P, k soil test kits)
3. เทคโนโลยีชุดตรวจสอบธาตุเหล็กในดิน (DOA-Fe soil test kits)
4. เทคโนโลยีชุดตรวจสอบแคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถันในดิน (Ca, Mg, S soil test kits)