สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8
ข่าวกิจกรรม

ประชุมการป้องกันหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน กรณีพบหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การส่งออกทุเรียนไทย ในภาพรวมของประเทศ

วันที่ 3 สิงหาคม 2567 นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานการประชุมการป้องกันหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน กรณีพบหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การส่งออกทุเรียนไทย ในภาพรวมของประเทศ โดยมี ดร.ประพิศ วองเทียม ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 ผู้บริหาร สวพ.8 เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม และให้การต้อนรับ ณ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 จังหวัดสงขลา

อธิบดีสั่งคุมเข้มเรื่องการตรวจคุณภาพทุเรียน ในการตรวจวัดเปอร์เซ็นต์ปริมาณแป้ง และการตรวจแมลงศัตรูพืช (หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน) โดยใช้มาตรการกรอง 4 ชั้นของกรมวิชาการเกษตร พื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง โดยใช้ยะลาโมเดล

มาตรการกรองชั้นที่ 1 : การคัดทุเรียนคุณภาพจากสวน ต้องตัดผลทุเรียนแก่เต็มที่ และบ่มเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง

มาตรการกรองชั้นที่ 2 : บ่มทุเรียนแยกกองตามแหล่งที่มา 48 ชั่วโมง (เพื่อคัดแยกลูกหนอนเจาะ) และตรวจวัดเปอร์เซ็นต์แป้ง ทุเรียนมีเปอร์เซ็นต์แป้ง 32-35 เปอร์เซ็นต์ ใช้เอทิฟอน (สารเร่งสุก) 50 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่ใช้เดิม กรณีทุเรียนเปอร์เซ็นต์แป้งมากกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ ใช้เอทิฟอน (สารเร่งสุก) 20-30 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่ใช้เดิม เมื่อบ่มครบ 48 ชั่วโมงหลังจากคัดแยกลูกหนอนเจาะ ทำการบรรจุลงกล่องแล้วบ่มไว้ที่อุณหภูมิประมาณ 10 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 48-72 ชั่วโมง ตรวจสอบหนอนและคัดแยกทุเรียนคุณภาพลงกล่อง

มาตรการกรองชั้นที่ 3 : ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลาตรวจปิดตู้ร่วมกับด่านตรวจพืชเพื่อสุ่มตรวจสุขอนามัยพืช จาก 3 เปอร์เซ็นต์ เป็น 5 เปอร์เซ็นต์ กรณีเจอหนอนให้ทำการคัดแยกลูกหนอนเจาะและทำความสะอาด (ไม่เจอหนอนปิดตู้)

มาตรการกรองชั้นที่ 4 : ด่านตรวจพืชปลายทางสุ่มตรวจศัตรูพืชอีกครั้ง ณ ด่านปลายทางที่ออกใบ PC กรณีเจอหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนจะตีกลับเพื่อทำการคัดแยกทุเรียนที่ได้รับความเสียหายจากหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน การป้องกันและกำจัดศัตรูพืช โดยใช้เทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (Integrate Pest Management) เป็นการเลือกใช้วิธีควบคุมศัตรูพืชวิธีการต่างๆ มาใช้ร่วมกันให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพพื้นที่ เน้นความปลอดภัย เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในแปลงปลูก

อธิบดีได้ให้นโยบายกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลาและพื้นที่อื่นๆ จัดทำแปลงขยายผลโดยใช้เทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานในการควบคุมหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ให้มีการบูรณาการระหว่าง

หน่วยงานต่างๆ ภายในจังหวัดเพื่อดำเนินการให้ครบตั้งแต่แปลงปลูกจนถึงกาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต ตั้งแต่การบริโภคผลสด และอุตสาหกรรรมแปรรูป เช่น ทุเรียนแช่แข็ง ทุเรียนทอดกรอบ ทุเรียนกวน ไอศกรีม

ทุเรียน ซึ่งราคาจำหน่ายทุเรียนในประเทศ ยังได้ราคาดี ไม่น้อยกว่าการส่งออก