สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8
ข่าวกิจกรรม

ผู้บริหารสวพ.8 กรมวิชาการเกษตร เข้าร่วมการประชุม “ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ภาคตะวันออก ฤดูกาลผลิต ปี 2567”

รมว.เกษตรฯ ลงพื้นที่ภาคตะวันออก มุ่งสู่ มหานครผลไม้ เร่งสนับสนุนแหล่งน้ำเพิ่มเติม สั่งประชุม ”Fruits Board“ ทันที ย้ำผู้ประกอบการรักษาคุณภาพมาตรฐานสินค้า ตั้งเป้าส่งออกทุเรียนปีนี้ ทะลุ 130,000 ล้านบาท สั่งกรมวิชาการเกษตร เพิ่มเจ้าหน้าที่ตรวจเข้ม บูรณาการร่วมทีมพญานาคราช

ย้ำอำนวยความสะดวกผู้ส่งออก 7 วัน/สัปดาห์

วันที่ 20 เมษายน 2567 ดร.ประพิศ วองเทียม ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 นายไพศอล หะยีสาและ ผอ.ศวพ.ยะลา นางบุญพา ชูผอม ผอ.กลุ่มถ่ายทอดเทคโนโลยี เข้าร่วมการประชุม “ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ภาคตะวันออก ฤดูกาลผลิต ปี 2567“ โดยร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน มีนายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุมบุษราคัม องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภาคตะวันออกเป็นแหล่งผลิตผลไม้ที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้จากจังหวัดจันทบุรี ช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ และสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาล ดังนั้นการกำกับดูแลผลไม้ให้เป็นไปตามมาตรฐาน จึงเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องคุณภาพของผลไม้ที่ส่งไปขายยังต่างประเทศ หากไม่มีคุณภาพย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายในการควบคุมคุณภาพผลไม้ตลอดห่วงโซ่อุปทานทั้งผลผลิตตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมคุณภาพผลผลิตทุเรียนในโรงคัดบรรจุเพื่อการส่งออก พร้อมบูรณาการการทำงาน “จันทบุรีโมเดล” โดยให้ทุกหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรฯ บูรณาการการทำงานร่วมกัน ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร และทูตเกษตร ที่ประจำอยู่สาธารณรัฐประชาชนจีน สั่งประชุม Fruit Board ทันที ตั้งเป้าส่งออกทุเรียนปีนี้ทะลุ 130,000 ล้านบาท

พร้อมสั่งการให้ กรมวิชาการเกษตร บริหารจัดการตรวจสอบคุณภาพ และรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Certificate) ทุเรียนส่งออกไปจีน เพื่ออำนวยความสะดวก ให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ ผู้ส่งออก รวมถึงติดตามสถานการณ์การส่งออกรายวัน ได้แก่ การจัดทำข้อมูลสถิติการส่งออกแต่ละรูปแบบการขนส่งรายด่านรายภาค ใช้ระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชแบบอิเล็กทรอนิกส์ (ePhyto) รับแจ้งงานตลอด 24 ชั่วโมง ให้เพิ่มจำนวนนายตรวจพืช โดยระดมกำลังจากด่านตรวจพืชทั่วประเทศ จำนวนรวม 60 คน ซึ่งมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา เพื่อรองรับการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้น ให้บริการออกตรวจทุกวันไม่เว้นวันหยุด ย้ำอำนวยความสะดวกผู้ส่งออก 7 วัน/สัปดาห์ รวมถึงให้ทูตเกษตร ติดตามสถานการณ์การขนส่งและโลจิสติกส์ ทั้งการขนส่งทางบกผ่านประเทศที่สาม การส่งออกทางเรือ และการส่งออกทางอากาศรายวัน พร้อมประสานแก้ปัญหาในกรณีที่จำเป็น รวมถึงอำนวยความสะดวก หากเกิดกรณีเปลี่ยนแปลงเส้นทางการส่งออก รวมถึงมอบหมายหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ามากำกับดูแลหากพบการกระทำผิด หรือการลักลอบนำเข้าทุเรียนจากต่างประเทศเพื่อสวมสิทธิ์ทุเรียนไทยส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมกันนี้ ได้สั่งการให้กรมชลประทาน บริหารจัดการแหล่งน้ำให้เพียงพอ ต่อการผลิตทุเรียนในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนไปสาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนี้ยังสั่งการให้ กรมส่งเสริมการเกษตร ทำโครงการลดต้นทุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย ยา และสารเคมีทางการเกษตรต่างๆ

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า สถานการณ์ส่งออกทุเรียนในปัจจุบันของการส่งออกทุเรียนภาคตะวันออก มีจำนวน 5,464 ชิปเมนท์ 74,922.75 ตันมูลค่า 8,907 ล้านบาท ซึ่งกรมวิชาการเกษตรมีการเตรียมความพร้อม ตั้งแต่แปลงทุเรียน GAP ซึ่งภาคคะวันออก มีพื้นที่ให้ผลผลิต 424,772 ไร่ ขึ้นทะเบียนกับ สำนักงานศุลการกรของจีน (GACC) แล้ว จำนวน 30,809 แปลง พื้นที่ 393,459 ไร่ หรือคิดเป็น 92% ของพื้นที่ให้ผลผลิต และมีโรงคัดบรรจุ 758 แห่ง โดยมอบหมายให้ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 หรือ สวพ.6 จัดหน่วยบริการเคลื่อนที่สำหรับบริการขึ้นทะเบียน GAP ปัจจุบันดำเนินการออกใบรับรอง GAP 2 ภาษา ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษให้ทั้งหมด รวมถึงสร้างความเข้าใจกับเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออก ขึ้นทะเบียน นักคัด นักตัดทุเรียน แยกกลุ่มโรงคัดบรรจุเป็นสีเขียว เหลือง แดง เพื่อยกระดับความสามารถของ โรงคัดบรรจุ ประมาณการณ์สิ้นสุดฤดูกาล ปี 2567 นี้ คาดจะส่งออกได้ทั้งประเทศ 61,500 ชิปเม้นท์ 1,020,626.89 ตัน 129,986.42 หรือประมาณ 130,000 ล้านบาท โดยมากกว่า ปี 2566 ร้อยละ 7.9 ตามจำนวน GAP ทุเรียนที่เพิ่มขึ้น (จากยอดเดิมการส่งออกทั้งประเทศ ปี 2566 จำนวน 57,000 ชิปเม้นท์ ปริมาณ 945,900.73 ตัน มูลค่า 120,469.34 ล้านบาท) ซึ่งกรมวิชาการเกษตรพร้อมจะอำนวยความสะดวกในการตรวจคุณภาพ และรับรองสุขอนามัยพืช ให้เป็นทุเรียนไทยทุเรียนคุณภาพ เป็นที่เชื่อมั่นของตลาดภายในและต่างประเทศ ตามนโยบายของ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนส่งออกไปยังปลายทางประเทศจีน” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว