สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8
ข่าวกิจกรรม

ผู้บริหารสวพ.8 กรมวิชาการเกษตร ร่วมขับเคลื่อน นโยบาย “สงขลามหานคร มะพร้าวน้ำหอม ของภาคใต้”

วันนี้ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ดร.ประพิศ วองเทียม ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 นางสาวบุญณิศา ฆังคมณี รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ (ภาคใต้ตอนล่าง) นางสาวอภิญญา สุราวุธ ผู้อำนวยการกลุ่มวิชาการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมต้อนรับ นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เดินทางมาตรวจราชการ การผลิตและส่งเสริม มะพร้าวน้ำหอม ของจังหวัดสงขลา โดยจังหวัดสงขลา ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา หน่วยงาน กระทรวงเกษตร หน่วยงานท้องถิ่น ภาคเอกชนผู้ประกอบการ กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ และอีกหลายๆภาคส่วน ที่สวนมะพร้าวผู้ใหญ่เอ็ม อำเภอ สทิงพระ จังหวัดสงขลา

และได้มีการประกาศวิสัยทัศน์ “สงขลามหานครมะพร้าวน้ำหอม ของภาคใต้” โดยจะขับเคลื่อน ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์การพัฒนาและส่งเสริม คือ

1) การเพิ่มผลผลิตต่อต้นต่อไร่และการเพิ่มคุณภาพผลผลิต

2) การเชื่อมโยงเครือข่ายตลอดห่วงโซ่การผลิตและห่วงโซ่คุณค่า

3) การแก้ปัญหาลักขโมย

4) การส่งเสริมอัตลักษณ์เชิงพื้นที่ และ

5) การส่งเสริมตลาดทางเลือก

มะพร้าวน้ำหอมสงขลามีคุณภาพดี เรามีอัตลักษณ์เชิงพื้นที่ คือแหล่งปลูกใหญ่ในคาบสมุทรสทิงพระ ที่มีทะเลขนาบทั้งสองด้าน ดินเป็นดินเหนียวและดินทรายที่เกิดจากทะเลยกตัวยุคโฮโลซีน เมื่อ 5 พันปีมาแล้ว การปลูกจะขุดยกร่องขึ้นมาและจะมีซากหอยที่ช่วยให้ผลผลิตออกมาดี

สงขลาเป็นเเหล่งผลิตที่มีชื่อเสียงมากว่า 110 ปี พื้นที่ปลูกมากที่สุดในภาคใต้ มีแหล่งรวบรวมรับซื้อผลผลิตรายใหญ่ ๆ เพื่อส่งโรงงานในภาคกลาง

ตอนนี้เรามีความพร้อมของภาคส่วนต่างๆที่จะร่วมมือกันสนับสนุนส่งเสริม ทั้งรัฐ เอกชน ชุมชน และเกษตรกร โดยจะเน้นเรื่องการผลิต มะพร้าวน้ำหอมที่มีคุณภาพดีตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ทั้งตลาดท่องเที่ยว ตลาดโรงงาน และตลาด ส่งออก

– ด้านสถานการณ์การผลิตและการตลาดมะพร้าวน้ำหอมสงขลา :

จังหวัดสงขลา มีประวัติความเป็นมา ตามบันทึกในนิราศทุ่งหวัง แต่งเมื่อปี พ.ศ. 2462 โดยครูกระจ่าง แสงจันทร์ ระหว่างเดินทางตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ขณะทรงดำรงตำแหน่งอุปราชมณฑลปักษ์ใต้ ซึ่งบันทึกไว้ว่า “เห็นมะพร้าวบนต้นผลไสว อยากจะได้น้ำกินไม่สิ้นสูญ ด้วยเดชพระบารมีทวีคูณ เป็นเค้ามูลเห็นประจักษ์ชักนำมา หัวหน้าสวนชื่อนายหรั่งเดินย่างก้าว เก็บมะพร้าวอ่อนมาตั้งนั่งคอยท่า อีกทั้งน้ำตาลสดรสโอชา น้อมนำมาถวายเป็นก่ายกอง ” จากนิราศทุ่งหวัง หากประมาณการอายุการปลูกมะพร้าวน้ำหอมหรือชาวทุ่งหวังเรียกมะพร้าวเบา จะมีการปลูกมาแล้วไม่น้อยกว่า 110 ปี

สถานการณ์ปัจจุบัน : ข้อมูลการปลูกตามทะเบียนเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตร ปี 2566 รวมทั้งจังหวัด 4,352 ครัวเรือน 5,161 แปลง เนื้อที่ 8,699 ไร่ โดยอำเภอที่ปลูกมาก คือ อ.ระโนด 1,184/1,392 /3,302 ครัวเรือน/แปลง/ไร่ อ.สทิงพระ 782/925/1,666 อ.สิงหนคร 411/508/720 อ.เมือง 502/ 651 /692 อ.หาดใหญ่ 535 /633 /674 ครัวเรือน/แปลง/ไร่ ส่วนอำเภออื่นๆ ปลูกไม่ถึง 500 ไร่ ประมาณการผลิตเมื่อให้ผลผลิตเต็มที่ ประเมินจากการปลูก 44 ต้นต่อไร่ รวม 382,756 ต้น ผลผลิตขั้นต่ำเฉลี่ย 100 ผลต่อต้น จะมีผลผลิตประมาณ 38 ล้านผล ประมาณการมูลค่าตลอดห่วงโซ่คุณค่า คือตั้งแต่จากสวนเกษตรกร ไปจนถึงผู้บริโภค จะมีมูลค่า ไม่น้อยกว่า 380 ล้านบาท พื้นที่ปลูกเป็นอันดับ 5 ของประเทศ รองจากราชบุรี สมุทรสาคร นครปฐม และสมุทรสงตราม ตามลำดับ และ เป็นอันดับ 1 ของภาคใต้ อันดับ 2 คือนครศรีธรรมราช 5,910 ไร่

– ด้านการพัฒนาส่งเสริม : มีหน่วยงานหลักด้านการวิจัยและพัฒนา คือหน่วยงานกรมวิชาการเกษตร มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาพันธุ์ และเทคโนโลยีการผลิต ด้านการส่งเสริม คือหน่วยงานกรมส่งเสริมการเกษตร มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมแบบบูรณาการเพื่อขยายผลให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัดสงขลา นอกจากนั้นจะมีภาคเอกชนผู้รวบรวมผลผลิตรายใหญ่หลายรายที่จะส่งผลผลิตไปโรงงานที่ทำการส่งออกในภาคกลาง มีสถาบันการศึกษา ท้องถิ่น ท้องที่ แปลงเกษตรกรต้นแบบ และภาคส่วนต่าง ๆ อีกมากมาย

– ด้านสถานการณ์ตลาดโลก : ความต้องการบริโภคน้ำมะพร้าวของจีน ปี 2566 เพิ่มขึ้นมากกว่า 300% มีราคาประมาณ 20,000 บาทต่อตัน ในช่วง 9 เดือนแรก ปี 2565 ประเทศจีนนำเข้ามะพร้าวทั้งกะลาจากไทย รวมมูลค่า เกือบ 11,500 ล้านบาท โดย ‘มะพร้าวไทย’ ครองสัดส่วนเป็นอันดับ 1 คือ 48% ของปริมาณการนำเข้ารวม ในปี 2568 คาดว่าจีนมีความต้องการมะพร้าวถึง 2,600 ล้านลูกต่อปี ส่วนการนำเข้าประเทศของสหรัฐฯ การนำเข้าน้ำมะพร้าวเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปี 2562 เติบโตเฉลี่ย 13% ต่อปี ประเทศไทยเป็นตลาดนำเข้าน้ำมะพร้าวอันดับ 1 ของสหรัฐฯ มีมูลค่าการนำเข้าจากไทย 131.80 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 23 ของส่วนแบ่งตลาดน้ำมะพร้าว

สถานการณ์การระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว จังหวัดสงขลา และการป้องกันกำจัด :

ปี 2567 จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอมรวมทั้งสิ้นประมาณ 16,403 ไร่ 7,479 ราย พบพื้นที่การระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวประมาณ 92 ไร่ (0.56%) ในเกษตรกร 29 ราย (0.39%) (สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา)

การป้องกันและกำจัด : วิธีการป้องกันกำจัดควรใช้หลายวิธีร่วมกัน ได้แก่

  • การตัดใบที่มีหนอนหัวดำมะพร้าวทำลาย
  • การพ่นด้วยชีวภัณฑ์ บีที ในช่วงหนอนวัยเล็ก และการระบาดไม่รุนแรง
  • การปล่อยแตนเบียนที่มีความเฉพาะเจาะจงกับหนอนหัวดำมะพร้าว
  • การใช้สารเคมีฉีดพ่นใบ และการฉีดเข้าลำต้น ในกรณีที่พบหนอนหัวดำระบาดรุนแรง