สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8
ข่าวกิจกรรม

วันถ่ายทอดเทคโนโลยี 76 จังหวัด 76 โมเดล การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง “ตรังโมเดล : การผลิตพริกไทยปะเหลียนปลอดภัย และเพิ่มมูลค่า“ ภาคใต้ตอนล่าง ณ จังหวัดตรัง

กรมวิชาการเกษตรขับเคลื่อนนโยบายด้านการเกษตรสู่ความสำเร็จ ตามนโยบายของรัฐบาล และร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เน้นย้ำ “เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมีมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน” โดยเน้นการผลิตที่ได้คุณภาพมาตรฐาน มีความปลอดภัย เพื่อนำไปสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ยกระดับรายได้ภาคการเกษตร ซึ่งแปลงต้นแบบการผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูงจังหวัดตรัง เป็นแปลง “ผลิตพริกไทยปะเหลียนปลอดภัย และเพิ่มมูลค่า” ของคุณกิตติ ศิริรัตนบุญชัย ที่มีมูลค่าการผลิตกว่า 2.2 แสนบาท/ไร่

วันที่ 31 มกราคม 2567 สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จัดงาน 76 จังหวัด 76 โมเดล การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูงภาคใต้ตอนล่าง ตรังโมเดล “การผลิตพริกไทยปะเหลียนปลอดภัย และเพิ่มมูลค่า” ณ สวนพริกไทยตรัง ต.นาเมืองเพชร อ.สิเกา จ.ตรัง โดยมีดร.ประพิศ วองเทียม ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 กล่าวต้อนรับ และรองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง เป็นประธานเปิดงาน โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้บริหารกรมวิชาการเกษตร นายสุรกิตติ ศรีกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตพืช นางวิลาวัณย์ ใคร่ครวญ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ผู้บริหาร สวพ.8 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน ร่วมชม นิทรรศการ และการสาธิตการขยายพันธุ์พริกไทยตรัง

รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรมีความมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่ง ในการคัดสรรเกษตรกรที่มีความรู้ ให้เป็นเกษตรกรต้นแบบดีเด่นในระดับจังหวัด และระดับเขต เพื่อที่จะประชาสัมพันธ์ถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยีการผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ให้แก่เกษตรกร บุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนผู้สนใจทั่วไป ให้มีการเสริมสร้างความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน ซึ่งการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี 76 จังหวัด 76 โมเดล การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง เป็นการถอดบทเรียนแห่งความสำเร็จจาก
เกษตรกรต้นแบบ 76 จังหวัดทั่วประเทศ มาขยายผลให้เกษตรกรและผู้สนใจได้นำไปปฏิบัติ และประยุกต์ใช้ในการผลิตสินค้าเกษตรของต้นเอง ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่การผลิต ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”

กิจกรรมหลักของงานประกอบด้วย แปลงสาธิต นิทรรศการ แปลงต้นแบบระดับเขตและระดับจังหวัด จำนวน 7 โมเดล ได้แก่

  • ตรังโมเดล : การผลิตพริกไทยตรัง Gi ปลอดภัย สร้างรายได้สู่ความยั่งยืน
    เกษตรกร : นายกิตติ ศิริรัตนบุญชัย ตำบลนาเมืองเพชร อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง
    คติประจำใจ : ไม่สูงให้เขย่ง ไม่เก่งให้ขยัน
    ปัจจัยความสำเร็จ : การเล็งเห็นถึงมรดกอันล้ำค่าจากบรรพบุรุษคือ พริกไทยปะเหลียนที่สืบทอดกันมามากกว่า100 ปี และได้พัฒนา ใฝ่หาความรู้ใหม่ ๆ มุ่งมั่น ทุ่มเท และมีความตั้งใจที่จะพลิกฟื้นสร้างมูลค่า
    สินค้าที่สร้างรายได้สูง : การแปรรูป พริกไทยดำพริกไทยขาวพริกไทยแดง และต้นพันธุ์พริกไทย
  • ยะลาโมเดล : แหล่งผลิตทุเรียนคุณภาพ เสริมสร้างรายได้ด้วยไม้ดอก สร้างสมดุลเกษตรผสมผสาน
    เกษตรกร : นายธำรงศักดิ์ ชุมนุมมณี ตำบลธารโต อำเภอธารโต จังหวัดยะลา
    คติประจำใจ : ลงมือทำด้วยตนเอง เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ได้ลงมือทำ ไม่หวังพึ่งพาคนอื่น ต้องยืนได้ด้วยลำแข้งตนเอง
    ปัจจัยความสำเร็จ : ใช้ประโยชน์พื้นที่ในการทำเกษตรอย่างสูงสุด โดยการปลูกทุเรียน มีการแปรรูปผลผลิตทุเรียน เป็นทุเรียนทอด และทุเรียนเชื่อม และสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเอง และมีการเลี้ยงผึ้งชันโรง ซึ่งสามารถเอื้อประโยชน์ในการเพิ่มอัตราการผสมเกสรของดอกทุเรียน ทั้งยังมีรายได้เสริม จากการขายน้ำผึ้งชันโรงและขายกล่องพันธุ์ชันโรง
    สินค้าที่สร้างรายได้สูง : ทุเรียน ไม้ดอก ชันโรง
  • นราธิวาสโมเดล : ลองกอง GI อินทรีย์หนึ่งเดียวของไทย สู่ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนครบวงจร
    เกษตรกร : นายเมธี บุญรักษ์ ตำบลสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส
    คติประจำใจ : เป็นนักออกแบบที่ไม่ยึดติดกับตำรา
    ปัจจัยความสำเร็จ : ความมานะอดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และมีจิตใจแน่วแน่ในการปฏิบัติตามศาสตร์พระราชา ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ยึดติดกับความสำเร็จ เปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ ทำตัวเหมือนน้ำครึ่งแก้วอยู่เสมอ เพื่อเปิดรับความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ เข้าร่วมกับกลุ่มต่างๆสร้างเครือข่ายในการทำงานสามารถทำให้งานพัฒนาได้ไกล และกว้างกว่าการทำงานคนเดียว การเสียสละเพื่อส่วนรวม ถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ของตนเองเป็นวิทยาทาน การมองโลกในแง่ดี เห็นวิกฤตเป็นโอกาส การได้รับรางวัล นำมาซึ่งการพัฒนารักษาคุณภาพและมาตรฐานของตนเอง ควบคู่กับพัฒนาบ้านเกิด
    สินค้าที่สร้างรายได้สูง : ลองกองมังคุด
  • สตูลโมเดล : จำปะดะ ไม้ผลอัตลักษณ์ Gi จังหวัดสตูล
    เกษตรกร : นายรอเสด ตาเดอิน ตำบลควนโดน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล
    คติประจำใจ : ทำอะไร ต้องทำให้จริง ถ้าทำจริง ความสำเร็จต้องตามมา”
    ปัจจัยความสำเร็จ : มีความแน่วแน่ มุ่งมั่น ในแนวทางของตนเอง ไม่สนใจและไม่เสียกำลังใจในคำวิจารณ์ในทางลบ ทำจนได้เกิด “สวนตาเดอิน” สวนจำปาดะขวัญสตูล ไม่ทำเกษตรตามกระแส ให้คุณค่าพืชท้องถิ่นทำให้สร้างมูลค่า พร้อมๆกับการรักษาสมดุลชีวิตแบบอิสลาม ดูแลครอบครัวผ่านกิจกรรมการเกษตรและกิจกรรมทางศาสนาควบคู่กัน
    สินค้าที่สร้างรายได้สูง : จำปาดะผลสด จำปาดะทอดและต้นพันธุ์จำปาดะ
  • ปัตตานีโมเดล : ทุเรียนทรายขาว Gi พืชอัตลักษณ์มูลค่าสูง
    เกษตรกร : นางสาววินิตา มูณีมูสี ตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
    คติประจำใจ : มีเป้าหมาย วินัยดี ซื่อสัตย์ในอาชีพ”
    ปัจจัยความสำเร็จ : มีใจรักในอาชีพเกษตร มีความอดทน และทำอย่างยั่งยืน การวางแผนและสร้างวินัยที่ดี ทำให้สามารถจัดการกิจกรรมหลาย ๆ อย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใฝ่เรียนรู้ หาความรู้ใหม่ๆ อยู่ตลอด และนำมาประยุกต์ใช้กับของตัวเอง มีความซื่อสัตย์ในอาชีพ มีการจำหน่ายผลผลิตผ่านระบบออนไลน์ การรักษามาตรฐานในด้านคุณภาพผลผลิต และความปลอดภัยของผลผลิตต่อผู้บริโภค
    สินค้าที่สร้างรายได้สูง : ทุเรียนและโคขุน
  • พัทลุงโมเดล : เกษตรผสมผสานมาตรฐานพืชอินทรีย์วิถีคนเมืองลุง
    เกษตรกร : นางเกษร ทองคำ ตำบลเกาะเต่า อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง
    คติประจำใจ: ทำการเกษตรสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ น้อมนำศาสตร์พระราชา
    ปัจจัยความสำเร็จ : อยู่บนพื้นฐานความพอเพียง พอใจในสิ่งที่มี มุ่งมั่นในเป้าหมาย และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ มีจิตสาธารณะ ทำสวนเกษตรทองคำใหเเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับคนรุ่นใหม่
    สินค้าสร้างรายได้สูง : กิ่งตอน ไม้ประดับ ปลาดุกร้า สินค้าปศุสัตว์
  • สงขลาโมเดล : การผลิตพืชผสมผสานสร้างรายได้สูง
    เกษตรกร : นายสมชาย จันทะสะ ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
    คติประจำใจ : ทำการเกษตรสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”
    ปัจจัยความสำเร็จ : อยู่บนพื้นฐานความพอเพียง พึงพอใจในสิ่งที่มี มุ่งมั่นในเป้าหมาย และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ มีจิตสาธารณ นำมาซึ่งความสุขของตนเองและสมาชิกในครอบครัว การมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี และพร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอด ให้แก่ ผู้ที่มีความสนใจ เพราะสุดท้ายแล้วความสุขคือการใช้ชีวิตในแบบที่พ่อสอน และส่งต่อให้ลูกหลาน เพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในระดับชุมชนสืบไป
    สินค้าที่สร้างรายได้สูง : นกยูงทุเรียนไข่ไก่และการท่องเที่ยว

การเสวนา “การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูงในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง” การสาธิตการผลิตขยายพันธุ์พริกไทยตรัง และการสาธิตการผลิตขยายชีวภัณฑ์ของกรมวิชาการเกษตร รวมไปถึงการแจก พันธุ์พืช โดยผู้เข้าร่วมงาน ประกอบด้วยเกษตรกร ประชาชน ข้าราชการ พนักงาน บุคลากรภาครัฐ และนักเรียน นักศึกษา จำนวน 250 ราย

“การจัดงานครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเกษตรกรต้นแบบ และเครือข่าย หน่วยงานของกรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานในจังหวัดตรัง รวมไปถึงหน่วยงานมหาวิทยาลัย” ในการเผยแพร่เทคโนโลยีการผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง สร้างรายได้ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเห็นผลเชิงประจักษ์ เพื่อยกระดับการผลิตสินค้าเกษตร โดยการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และขอแสดงความยินดีกับเกษตรกรผู้ได้รับรางวัลทุกท่าน ที่ได้สร้างสรรค์ต้นแบบการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยมูลค่าสูง และร่วมขยายผลเทคโนโลยีกรมวิชาการเกษตรให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง นำไปสู่การพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศไทยต่อไป” รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว