ประชุมวางแผนเตรียมการรองรับปัญหาและอุปสรรค การส่งออกทุเรียน “ทุเรียนส่งออกเอาไงดี ปี 65”

วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2564 นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 เป็นประธานการประชุมวางแผนเตรียมการรองรับปัญหาและอุปสรรคการส่งออกทุเรียน “ทุเรียนส่งออกเอาไงดี ปี 65” โดยมีหน่วยงานประกอบด้วย ศวพ.จันทบุรี ศวพ.ระยอง ด่านตรวจพืชจันทบุรี ด่านตรวจพืชลาดกระบัง สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด และภาคเอกชน ได้แก่ สมาคมทุเรียนไทย (TDA) สมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย สมาคมทุเรียนใต้ (SDA) สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก วิสาหกิจชุมชนชาวสวนจันท์ สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด (DMA) สมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ (MAFTA) เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมอาคารอเนกประสงค์ สวพ.6 และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Web Conference ระบบ Zoom meeting เพื่อหารือร่วมกันในประเด็นสำคัญอันจะนำมาซึ่งมาตรการต่างๆ ดังนี้
1. มาตรการควบคุมทุเรียนอ่อน ได้แก่ การกําหนดวันเก็บเกี่ยว อาสาสมัครเฝ้าระวังทุเรียนอ่อนในพื้นที่ และอาสาสมัครตรวจสอบคุณภาพทุเรียนในโรงคัดบรรจุ
2. มาตรการป้องกันโควิด-19 ในโรงคัดบรรจุ และในสวน
3. มาตรการป้องกันศัตรูพืชควบคุมในโรงคัดบรรจุ และในสวน
4. การเปิดใช้ระบบการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ (e-Phyto) และการใช้ใบรับรอง GAP ในระบบ e-Phyto ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการพัฒนาระบบการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ (e-Phyto certificate for export and re–export) และการแลกเปลี่ยนข้อมูลใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบ National Single window : NSW ไปยังประเทศคู่ค้า ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาระบบธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ
5. การตรวจปล่อยตู้ของด่านตรวจพืช และการใช้ระบบ Self-Certified ในการพิจารณาโรงคัดบรรจุนำร่องเพื่อเป็น Durian Self Certified (2562) เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการส่งออกทุเรียน โดยมีระบบการประเมิน ติดตาม ตรวจสอบ และศึกษาพัฒนาระบบ พร้อมขยายผลไปเพื่อให้โรงคัดบรรจุทุเรียนเข้าร่วมระบบเพิ่มขึ้นในอนาคต
6. แนวทางและเงื่อนไขการคัดบรรจุของผลผลิตทุเรียน มังคุด ณ จุดคัดแยกภายในสวน ทั้งนี้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 กรมวิชาการเกษตร ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบและกำกับดูแลในภารกิจด้านบริการวิชาการและการตรวจสอบรับรองมาตรฐานสินค้าพืช มุ่งเน้นให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินการเชิงรุก เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างเกษตรกรผู้ผลิต โรงคัดบรรจุและผู้ประกอบการส่งออกได้เข้ามามีบทบาทร่วมกันในการกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาการส่งออกทุเรียน อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนในการส่งออกทุเรียนของประเทศไทยต่อไป