อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ลงนาม ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง “หลักการ วิธีการ และเงื่อนไขการรับรองพืชที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม พ.ศ. 2567สนับสนุนให้มีการปรับปรุงพันธุ์ และพัฒนาพืชพันธุ์ใหม่ และพัฒนาพืชพันธุ์ใหม่ ที่มีความปลอดภัยสูงด้วยเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม (GEd)

นายรพึภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า วันที่ 9 สิงหาคม 2567 ได้ลงนามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง “หลักการ วิธีการ และเงื่อนไขการรับรองพืชที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม พ.ศ. 2567 ซึ่งประกาศดังกล่าวจะเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การขอรับหนังสือรับรองพืชที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้มีการปรับปรุงพันธุ์ และพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ รองรับวิกฤตความมั่นคงทางอาหาร และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกาศดังกล่าวจะใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป ทั้งนี้สาระสำคัญของประกาศดังกล่าวประกอบด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอรับการรับรองพืชที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม โดยพืชที่ขอการรับรอง ต้องมีคุณสมบัติ เป็นพืชที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม ซึ่งในผลิตภัณฑ์สุดท้าย มีสารพันธุกรรมจากสิ่งมีชีวิตผู้ให้ ที่สามารถผสมพันธุ์กันได้ตามธรรมชาติกับสิ่งมีชีวิตผู้รับอย่างหนึ่งอย่างใด ไม่มีการถ่ายฝากยีนจากสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่จัดว่าเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือ GMOs โดยมีความปลอดภัยสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ประกาศกรมวิชาการเกษตรฯ ดังกล่าว สอดรับกับแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายภาคการเกษตร IGNITE AGRICULTURE HUB จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง ยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางภาคเกษตร และอาหารของโลก ที่เป็นนโยบายที่สำคัญของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตร ในการพัฒนาพืชพันธุ์ใหม่ โดยใช้เทคโนโลยี การปรับแต่งจีโนม (Genome Editing, GEd) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการแก้ไขรหัสพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่มีความจำเพาะ และแม่นยำสูง หรือแก้ไขยีนที่ไม่ดีออกเพื่อให้ได้สิ่งมีชีวิตลักษณะดีตามต้องการ ซึ่งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ให้การยอมรับ ที่สำคัญเทคโนโลยี GEd ไม่มีการถ่ายฝากยีนจากสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่จัดว่าเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือ GMOs โดยมีความปลอดภัยสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หลายประเทศทั่วโลกได้ลงทุนงานวิจัย และอนุมัติการใช้ประโยชน์จาก เทคโนโลยี GEd อาทิ แคนาดา อเมริกา บราซิล อาร์เจนตินา ชิลี ญี่ปุ่น จีน อังกฤษ ฟิลิปปินส์ เคนยา รัสเซีย ออสเตรเลีย ต่างให้การยอมรับเทคโนโลยี GEd ทั้งในเชิงการค้า และการบริโภคเช่นเดียวกับพืชทั่วไป สำหรับประเทศไทยถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะนำเทคโนโลยีดังกล่าว มาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์พืชแบบก้าวกระโดด เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็น Seed hub ซึ่งเทคโนโลยี GEd จะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยยกระดับรายได้ 3 เท่าภายใน 4 ปีของเกษตรกรอย่างแท้จริง

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว่ในตอนท้ายว่า การขับเคลื่อนนโยบายจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม (GEd) ที่เป็นเทคโนโลยีที่ไม่มีการถ่ายฝากยีนจากสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่จัดว่าเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือ GMOs โดยมีความปลอดภัยสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะดำเนินการร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการ พี่น้องเกษตรกร ที่จะร่วมกันขับเคลื่อน เพื่อนำพาภาคเกษตรไทยสู่ “ศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก” ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตความกินดี อยู่ดี ของเกษตรกรไทย ภายใต้ หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ที่เป็นนโยบายที่สำคัญของ รมว.เกษตร