วันที่ 26 มิถุนายน 2567 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานแถลงข่าว โครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ภายใต้มาตรการโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68
ในโอกาสนี้นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วย ณ ห้องประชุม 115 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ในส่วนของกรมวิชาการเกษตร อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ ปุ๋ย พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 กรมวิชาการเกษตรจะดำเนินการควบคุมคุณภาพ โดยการสุ่มตัวอย่าง ตรวจสอบคุณภาพของปุ๋ยและชีวภัณฑ์ จากโรงงานผู้ผลิตที่เข้าร่วมโครงการ ทุกรอบการผลิต (ทุก lot) ให้ได้มาตรฐานตามสูตรที่กำหนด หากกรมวิชาการเกษตรตรวจพบว่า โรงงานผู้ผลิตมีการผลิตสินค้าผิดมาตรฐาน หรือสินค้าปลอม กรมวิชาการเกษตรจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ปุ๋ยเคมีที่ผิดมาตรฐาน มีโทษจำคุก 2-5 ปี ปรับ 80,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากผลิตปุ๋ยปลอม มีโทษจำคุก 5-15 ปี ปรับ 200,000 – 2,000,000 บาท และหากผลิตปุ๋ยอินทรีย์ปลอม มีโทษจำคุก 1 ปี 3 เดือน – 3 ปี 9 เดือน ปรับ 50,000 – 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนชีวภัณฑ์ของกรมวิชาการเกษตรนั้น จะช่วยลดความเสียจากการเข้าทำลายของโรคทางดิน ช่วยการเจริญของพืชทางระบบราก ส่งเสริมการงอกของเมล็ด ข้าวและพืชพันธุ์ธัญญาหาร แข็งแรง ให้ผลผลิตมากขึ้น รวมถึงช่วยลดการใช้สารเคมีของเกษตรกรลง เกษตรกรสามารถลดค่าใช้จ่ายจากการใช้สารเคมี อีกทั้งช่วยให้สุขภาพของเกษตรกรแข็งแรงขึ้นด้วย
สำหรับการผลิตชีวภัณฑ์ปลอมนั้น มีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี 8 เดือน ปรับไม่เกิน 480,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากผลิตชีวภัณฑ์ผิดมาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี 3 เดือน ปรับไม่เกิน 330,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กรมวิชาการเกษตร ขอเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง ผลิตปุ๋ย และชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ขอให้เกษตรกรมั่นใจว่า “โครงการปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง” เกษตรกรจะได้สินค้าที่มีคุณภาพ ใช้เพิ่มผลผลิตในนาข้าวได้อย่างแท้จริง อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้าย