การประชุม เรื่อง สนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยทรัพยากรพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและการเกษตร

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567 นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานเปิดการประชุม เรื่อง สนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยทรัพยากรพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและการเกษตร โดยมี Dr.Daniele Manzella ผู้แทนของ FAO Plant Treaty จาก FAO Secretariat มาบรรยายให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยทรัพยากรพันธุกรรมพืช เพื่ออาหารและการเกษตร และ Dr.Bo Zhou จาก FAO Regional Office for Asia and the Pacific ประจำประเทศไทยเข้าร่วมด้วย

วัตถุประสงค์การประชุมเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐติดตามความคืบหน้าการดำเนินงาน และสร้างความรับรู้เกี่ยวกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยทรัพยากรพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและการเกษตร (ITPGRFA) ทั้งข้อดีและข้อเสีย โอกาสที่ประเทศไทยจะให้สัตยาบันในสนธิสัญญาฯ ร่วมหารืออภิปรายระหว่างหน่วยงานภาครัฐภายในกรมวิชาการเกษตร หน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมฟังบรรยายและอภิปราย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมการข้าว กรมปศุสัตว์ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) และหน่วยงานภายใต้เครือข่ายโครงการศูนย์ทรัพยากรพันธุกรรมพืชแห่งชาติ (NPGRC) อาทิ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรมหม่อนไหม กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นต้น ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารศูนย์ปฏิบัติการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมวิชาการเกษตร และรูปแบบการประชุมทางไกลผ่านระบบ Web Conference (Zoom)

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาระหว่างประเทศแล้ว ในวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 (ค.ศ. 2002) แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน ในปัจจุบันมีประเทศที่เป็นภาคีสนธิสัญญาฯ จำนวน 151 ประเทศ โดยมีหลักการและสาระสำคัญของสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยทรัพยากรพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและการเกษตร (International Treaty on Plant Genetic Resources for Food and Agriculture, ITPGRFA) คือ การอนุญาตให้เข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมพืชจำกัดอยู่เฉพาะวัตถุประสงค์ 3 ประการ ได้แก่ เพื่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ การปรับปรุงพันธุ์ และการอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมพืช จุดมุ่งหมายเพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรนั้นอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมและสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ โดยสนธิสัญญาดังกล่าวได้กำหนดให้มีการจัดตั้งระบบพหุภาคีเพื่อการเข้าถึงและแบ่งปันผลของทรัพยากรพันธุกรรมพืช ครอบคลุมทรัพยากรพันธุกรรมพืชตามบัญชีรายชื่อ ๖๔ รายการ ที่ระบุไว้ในภาคผนวกที่ ๑ ของสนธิสัญญาฯ ซึ่งทรัพยากรเหล่านี้ต้องเป็นสมบัติสาธารณะและอยู่ภายใต้การจัดการและควบคุมของรัฐบาลภาคีสมาชิก