กรมวิชาการเกษตร ขับเคลื่อน 8 นโยบาย IGNITE Thailand ยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเกษตร และอาหารของโลก

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่าร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดงานIGNITE Thailandเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567  และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีแถลงวิสัยทัศน์แนวทางการขับเคลื่อนภาคการเกษตร IGNITE AGRICULTURE HUB จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง ยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางภาคเกษตร และอาหารของโลกโดย รมว เกษตร ได้มอบนโยบายให้ กรมวิชาการเกษตรขับเคลื่อนซึ่งในวันที่ 13 มิถุนายน 2567 รมว. เกษตรได้มาเป็นประธานเปิดงาน “โครงการสืบสาน รักษา ต่อยอด ศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567”และ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมติดตามการขับเคลื่อนนโยบาย IGNITE Thailand ของกรมวิชาการเกษตรด้วย 8 นโยบาย IGNITE Thailand ภาคการเกษตรของกรมวิชาการเกษตร มีดังนี้

1. การพัฒนาพืชพันธุ์ใหม่ โดยใช้เทคโนโลยี การปรับแต่งจีโนม Genome Editing (GEd)  ซึ่งกรมวิชาการเกษตร อยู่ระหว่างการจัดทำร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และร่างประกาศกรมวิชาการเกษตร เพื่อรองรับการพัฒนาพันธุ์พืช ที่มาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวมีความปลอดภัยสูง และได้รับการยอมรับในองค์กรนานาชาติ (FAO,OECD) ซึ่งประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงือนไข ในการปรับปรุงพันธุ์พืชด้วยเทคนิคการปรับปรุงพันธุ์ใหม่ (New Breeding Technique)  จะนำไปสู่ท่าที่ที่ชัดเจนของประเทศไทย ในด้านเทคโนโลยี GEd อย่างเป็นรูปธรรม สอดรับกับแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต สำหรับการพัฒนาพืชพันธุ์ใหม่ของประเทศ

2. ศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ กรมวิชาการเกษตร ได้จัดทำโครงการสำคัญ อาทิ (1) ระบบบริการออนไลน์กรมวิชาการเกษตรระบบใหม่ (NEW DOA-NSW) ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออก และการนำผ่านของด่านตรวจพืชที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ (2) การให้บริการใบรับรองปลอดศัตรูพืชอิเล็กทรอนิกส์ (E–Phyto) แก่ผู้ประกอบการ (3) การรับรองห้องปฏิบัติการตรวจสอบสุขอนามัยเมล็ดพันธุ์พืชให้แก่ภาคเอกชน (Seed Health Test Lab Accreditation) และ(4) การพัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตรให้เทียบเท่าระดับสากล ซึ่งจะทำให้การทำงานด้วยความชัดเจน รวดเร็ว ทันสถานการณ์ ลดขั้นตอนและภาระงานเพิ่มประสิทธิภาพในการผ่านพิธีการศุลกากรของสินค้าไทย ทั้งต้นทางและปลายทางเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบการตรวจสอบศัตรูพืชของไทยต่อยอดให้อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์การค้าเมล็ดพันธุ์ของไทยเติบโตในตลาดโลกอย่างต่อเนื่องผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูงโดยเกษตรกรไทยสู่ทุกภูมิภาคของโลกพร้อมกับยกระดับเป้าหมายให้ประเทศไทย เป็นผู้นำด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชเขตร้อนชื้น (World Leader of Tropical Seeds)

3. การผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาตรการลดการเผา 3R และเทคโนโลยีปลูกมันสำปะหลังโดยใช้ระบบน้ำหยด เพื่อลดการขาดแคลนน้ำ เพื่อลดปัญหาฝุ่นควันภาคเกษตรอย่างยั่งยืน ตามนโยบาย 3R ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ Re-Habitปรับเปลี่ยนนิสัย/พฤติกรรม การปลูกพืชชนิดเดิมแบบไม่เผา เช่น การปลูกข้าวโพด อ้อย ในพื้นที่เดิม แต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการปลูกที่ไม่เผาRe-Placewith High value crop การปรับเปลี่ยนพืชจากพืชล้มลุก เป็นพืชที่มีมูลค่าสูง เช่นไม้ผล (กาแฟ มะคาเดเมีย อะโวกาโด) หรือไม้ยืนต้น (ป้าไม้ และไม้โตเร็ว ที่มีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอน)Replace with Alternate cropsการปรับเปลี่ยนพืชในพื้นที่นาปรัง หรือพื้นที่นอกเขตชลประทาน เป็นข้าวโพด หรือพืชตระกูลถั่ว นอกจากนี้ เทคโนโลยีการให้น้ำหยดมันสำปะหลัง ที่เป็นวิธีการให้น้ำที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าการให้น้ำแบบหัวพ่นฝอย และการให้น้ำแบบร่อง โดยมีประสิทธิภาพ 85-90% และใช้น้ำน้อยกว่าวิธีอื่นๆ เมื่อนำมาใช้กับมันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9 ที่มีอายุ 12 เดือน การให้น้ำอย่างเหมาะสม สามารถให้ผลผลิตถึง 8,059 กิโลกรัม/ไร่

4. การใช้ปุ๋ยอย่างแม่นยำ หัวเชื้อจุลินทรีย์ และชีวภัณฑ์เพื่อการเกษตรสำหรับการปลูกพืช การใช้ปุ๋ยเคมีให้มีประสิทธิภาพขึ้นกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการในที่นี้มีข้อแนะนำที่สามารถนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติได้ เช่น ใช้แนวทาง 4 ถูกนั่นคือ ถูกสูตร ใช้ปุ๋ยสูตรเหมาะสม มีธาตุอาหารตรงตามพืชต้องการ ขึ้นกับชนิด อายุ ความอุดมสมบูรณ์ของดิน และภูมิอากาศ ถูกอัตราใส่ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม เพียงพอ หรือพอดีกับความต้องการของพืช  ถูกเวลา ใส่ปุ๋ยในช่วงเวลาที่เหมาะสม ถูกวิธีให้ปุ๋ยบริเวณที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด สำหรับ ปุ๋ย PGPRปุ๋ยชีวภาพแบคทีเรียส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ประกอบด้วยแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในดินบริเวณรอบรากพืช (rhizosphere) และช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชได้แบ่งออกเป็น 3 สูตร ปุ๋ยชีวภาพ PGPR-1 ใช้สำหรับข้าวโพด ข้างฟ่าง พืชผัก พืชสมุนไพร ปุ๋ยชีวภาพ PGPR-2 ใช้สำหรับข้าว ปุ๋ยชีวภาพ PGPR-3 ใช้สำหรับอ้อย และมันสำปะหลังสำหรับชีวภัณฑ์ หัวเชื้อจุลินทรีย์ ย่อยสลาย วัสดุอินทรีย์ทำปุ๋ยหมัก เร่งการย่อยสลายตอซังในนาข้าว และเชื้อราไตรโคเดอร์มา ลดความเสียจากการเข้าทำลายของโรคทางดิน  ช่วยการเจริญของพืชทางระบบราก ส่งเสริมการงอกของเมล็ด การเจริญเติบโตของพืชและให้ผลผลิตสูง และ ชีวภัณฑ์แบคทีเรีย Bacillus subtilis สายพันธุ์ BS-DOA 24 ใช้ในการควบคุมโรคเหี่ยวที่เกิดจากแบคทีเรีย จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกร สนับสนุนนโยบายลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร  สามารถนำไปใช้ผลิตพืชปลอดภัย

5. คาร์บอนเครดิตเพื่อลดผลกระทบมาตรการกีดกันทางการค้า กรมวิชาการเกษตร และ อบก. จะขยายผลจากการทำ MOU นำร่องใน 3 โครงการ คือ การผลักดันต้นแบบ การจัดทำคาร์บอนเครดิต ภาคการเกษตร ให้สามารถซื้อ -ขาย ได้จริง ในพืชเศรษฐกิจ เช่น ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ทุเรียน มะม่วง การขอพัฒนา Methodology เพื่อขอรับรองคาร์บอนเครดิต สำหรับ Biochar และ การวิจัยคาร์บอนฟุ๊ตปรินท์ในพืชเศรษฐกิจ เช่น ปาล์มน้ำมัน และทุเรียน  เมื่อกรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานรับรอง VVB ได้แล้วนั้น จะมีประโยชน์ตามมาดังนี้ ลดค่าใช้จ่ายในการจ้างที่ปรึกษาส่าหรับเกษตรกร หรือ ผู้ประกอบการที่สนใจ เนื่องจากกรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานตรวจรับรอง (VVB) จึงสามารถเป็นที่ปรึกษาในการจัดท่าเอกสาร และมี platform ในการจัดท่าโครงการ T-VER ภาคเกษตร และมีความพร้อมในการให้บริการ ในการตรวจความใช้ได้ (validate) และรับรองคาร์บอนเครดิต (verify)ปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตร มีผู้ผ่านการอบรม หลักสูตรผู้ตรวจสอบความใช้ได้ และผู้ทวนสอบสำหรับผู้ประเมินภายนอก สำหรับโครงการภาคสมัครใจ (VVB) จาก อบก.จำนวน 31 ราย

6. การปรับปรุงกฎหมายและอำนวยความสะดวกการนำเข้า-ส่งออก และขึ้นทะเบียนปุ๋ย และวัสดุอันตรายทางการเกษตร โดยการลดชั้นตอน ลดต้นทุน ลดระยะเวลา และเพิ่มประสิทธิภาพในการขึ้นทะเบียน โดยการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร รวมระยะเวลาทั้งหมดในการยื่นขอ (ไม่รวมระยะเวลาดำเนินการทดลองประสิทธิภาพ และพิษตกค้าง) ใช้เวลา 247 วัน จากประกาศเดิมที่ใช้เวลา 526 วัน

7. การขึ้นทะเบียนชีวภัณฑ์ 5 ชนิด (มูลนิธิโครงการหลวง) ตามที่มูลนิธิโครงการหลวง ได้มีการดำเนินการวิจัยค้นคว้าและผลิตชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืชทดแทนการใช้สารเคมีทางการเกษตร เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรบนที่สูง ได้มีโอกาสใช้ชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพและราคาถูก กรมวิชาการเกษตรได้ขึ้นทะเบียนชีวภัณฑ์ให้โครงการหลวง ซึ่งนับว่าเป็นการขึ้นทะเบียนชีวภัณฑ์ของมูลนิธิโครงการหลวงครั้งแรก เพื่อประโยชน์แก่เกษตรกรบนพื้นที่สูง และเกษตรกรภายนอกได้ใช้กันอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

8. โครงการ 76 จังหวัด 76 โมเดล การผลิตสินค้าเกษตรอย่างปลอดภัยมูลค่าสูง ตามมาตรฐาน GAP โครงการนี้ จะเป็นการขยายผลโครงการดีๆ ในการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย สร้างรายได้สูง ให้กับทุกภาคส่วน ได้เรียนรู้ และร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านการปลูกพืชแบบผสมผสาน ร่วมกัน

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า การขับเคลื่อน 8 นโยบายIGNITE Thailand ภาคการเกษตรของกรมวิชาการเกษตร จะดำเนินการร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาโดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกร ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อนำพาภาคเกษตรไทยสู่ “ศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก”ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตความกินดีอยู่ดีของเกษตรกรไทย ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”คนในภาคการเกษตรจะต้องมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายใน 4 ปี