เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 นายชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการคณะกรรมการพิจารณาทบทวนระเบียบและกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการสร้างความสามารถการแข่งขันของภาคการเกษตร เป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการพิจารณาทบทวนระเบียบและกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการสร้างความสามารถการแข่งขันของภาคการเกษตร” ณ ห้องประชุมสำนักอธิบดี กรมวิชาการเกษตร
ในโอกาสนี้ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เสนอเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกรมวิชาการเกษตร เพื่อพิจารณาดังนี้
1. แนวทางการพิจารณาเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม (genome editing) ของประเทศไทย และการกำกับดูแลที่ไม่เข้าข่ายตามมาตรการที่ใช้กับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) Gene Editing หรือ GEd เป็นเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ เพื่อแก้ไข หรือปรับแต่งยีนให้มีความแข็งแรงสมบูรณ์ ต้านทานศัตรูพืช มีคุณค่าทางโภชนาการเพิ่ม ผลผลิตสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตลดลง ที่สำคัญเทคโนโลยี GEd ไม่มียีนถ่ายฝากจากสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่จัดว่าเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือ GMOs และมีความปลอดภัยสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เทคโนโลยี GEd ได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO), OECD มี 13 ประเทศประกาศสนับสนุนในที่ประชุม WTO ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี GEd เชิงการค้าและการบริโภคร่วมกัน และกว่า 40 ประเทศ ทั่วโลก อาทิ แคนาดา อเมริกา บราซิล อาร์เจนตินา ชิลี ญี่ปุ่น จีน อังกฤษ ฟิลิปปินส์ เคนยา รัสเซีย ออสเตรเลีย ประกาศใช้นโยบาย no transgene = not GMOs โดยถือว่า พืช GEd มีความปลอดภัยเช่นเดียวกันพืชปกติทั่วไป
2. แนวทางการแก้ไขกฎ ระเบียบเกี่ยวกับการส่งออกผักและผลไม้ ที่สมาคมผักและผลไม้ไทยกับกรมวิชาการเกษตรได้เห็นชอบร่วมกัน
3. แนวทางการแก้ไขพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทที่เป็นปัจจุบันและในอนาคต