นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้นำนโยบายปราบปรามสินค้าเกษตรสู่การปฏิบัติ โดยบังคับใช้กฎหมาย ที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ. ปุ๋ย พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ร.บ.กักพืช และ พ.ร.บ.ควบคุมยาง โดยได้จัดตั้งทีมพนักงานเจ้าที่หน้าที่ตาม พ.ร.บ. ในการดำเนินการ ใช้ชื่อว่า “สารวัตรเกษตรไซเบอร์”หรือ “CAR” (CYBER AGRICULTURAL REGULATOR) มีหน้าที่ ตรวจสอบ เฝ้าระวัง รับแจ้งเบาะแส ปราบปราม รวบรวมเอกสาร เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ให้ได้ใช้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีมี คุณภาพ มีราคาจำหน่ายสูง ตามนโยบาย ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้ประกาศสงครามกับสินค้าเกษตรเถื่อน มุ่งปราบปรามสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจัง ตนจึงได้สั่งการให้สารวัตรเกษตรไซเบอร์ และเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ ดำเนินการตรวจตรา และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายให้ นายธรรมรัตน์ ทองมี ผู้อำนวยการกลุ่มสารวัตรเกษตร สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร พร้อมเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรไซเบอร์ บุกตรวจปุ๋ยเคมี และวัตถุอันตรายผิดกฎหมาย เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ โดยการเข้าตรวจสอบสถานที่ดังกล่าว เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.)
จากการปฏิบัติการลงพื้นที่ปราบปรามสถานที่จำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรตามที่ได้รับแจ้งเบาะแส พบมีการจำหน่ายสินค้าที่ผิดกฎหมาย ปุ๋ยเคมี จำนวน 2 รายการ คือ
1. สินค้าฉลากระบุ Green up ปุ๋ยออแกนิค ชนิดน้ำ สูตรสำหรับสนามหญ้า จำนวน 4 ลิตร
2. สินค้าไม่ระบุฉลาก (ต้องสงสัยว่าเป็นปุ๋ยเคมี) จำนวน 56 ลิตร ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวต้องสงสัยว่าเป็นปุ๋ยเคมี ที่ขายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มีความผิดตาม มาตรา 12 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิตเพื่อการค้า ขาย นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านปุ๋ย ดังต่อไปนี้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ (1) ปุ๋ยเคมี มีโทษตามมาตรา 57 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
พบมีการจำหน่ายสินค้าที่ผิดกฎหมาย วัตถุอันตรายชนิดที่ 2 จำนวน 3 รายการ ได้แก่
1. สินค้าฉลากระบุ กำจัดเพลี้ยไฟ ไรแดง เชื้อรา หนอน สูตรเข้มข้น x10 จำนวน 7.5 ลิตร
2. สินค้าฉลากระบุ สเปรย์บำรุงกุหลาบ ป้องกันเพลี้ย เร่งโตไว จำนวน 31 ลิตร
3. สินค้าฉลากระบุ เพลี้ยกุหลาบ กำจัดไรแดง เพลี้ย เชื้อรา จำนวน 106 ลิตร
ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีความผิดตามมาตรา 22 ห้ามผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 เว้นแต่จะได้แจ้งความประสงค์จะดำเนินการดังกล่าวให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อนมีโทษตามมาตรา 72 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร ได้เก็บตัวอย่างสินค้าทั้ง 5 รายการ เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิชาการเกษตร และอายัดของกลางไว้ทั้งหมด รวมมูลค่าของกลาง ทั้งสิ้นกว่า 500,000 บาท
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การเลือกซื้อปัจจัยการผลิตทางการเกษตรต้องซื้อสินค้าที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องจากกรมวิชาการเกษตร การเลือกซื้อปุ๋ย ภาชนะ/กระสอบปุ๋ยต้องใหม่ ไม่มีรอยฉีกขาด หรือเย็บใหม่ และควรซื้อจากผู้ขายที่มีใบอนุญาตขายปุ๋ยเท่านั้น ไม่ควรซื้อปุ๋ยจากพ่อค้าเร่ โดยขอเอกสารกำกับปุ๋ยและใบเสร็จรับเงินจากผู้ขายทุกครั้ง ฉลากปุ๋ยต้องจัดเจน และมีรายละเอียดของปุ๋ยแต่ละประเภทถูกต้องครบถ้วน ในส่วนของชีวภัณฑ์ ต้องใช้เชื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ตรวจสอบวันหมดอายุก่อนซื้อทุกครั้ง เลือกใช้ชนิดชีวภัณฑ์ให้ตรงกับชนิดของแมลงเป้าหมาย และใช้อัตราตามคำแนะนำ หากต้องผสมน้ำ ควรผสมน้ำปริมาณน้อยให้เข้ากันก่อนจึงเพิ่มน้ำตามอัตราที่ระบุในคำแนะนำ ผสมสารจับใบทุกครั้งที่ฉีดพ่นไปที่พืชไม่รดน้ำหลังฉีดพ่นอย่าง 1 วัน เพื่อให้เชื้อติดบนพืชได้ดี ปรับขนาดหัวฉีดให้ได้ละอองขนาดเล็กที่สุด และฉีดพ่นคลุมทุกส่วนของพืช อย่างไรก็ตาม เพื่อความมั่นใจควรเลือกซื้อสินค้าจากร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพที่ได้รับเครื่องหมาย Q shop
“กรมวิชาการเกษตรให้ความสำคัญกับการดูแลเกษตรกรไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจากผู้ที่มีเจตนาจะเอาเปรียบหลอกขายสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ดังนั้นจึงได้เพิ่มหมายเลขโทรศัพท์ให้เกษตรกรหรือผู้ที่ทราบเบาะแสสามารถแจ้งได้ทันทีหากพบรถเร่ขายที่มีพฤติกรรมน่าสงสัย หรือมีเบาะแสเกี่ยวกับการผลิตหรือจำหน่ายปัจจัยการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ โดยสามารถแจ้งได้ที่ศูนย์รับแจ้งเบาะแสปัจจัยการผลิตปลอม ไม่ได้มาตรฐาน กรมวิชาการเกษตร สายด่วน 1174 เพื่อจะได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรเข้าไปดำเนินการตรวจสอบต่อไป อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้าย