สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ติดตามความก้าวหน้า ศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา จังหวัดระยอง

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง

ศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา เป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรกรรมสมัยใหม่ บนพื้นที่ 154 ไร่ มุ่งยกระดับเกษตรกรไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัตนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อต่อยอดอาชีพเกษตรกรไทย และยกระดับให้ก้าวไกลด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องมือและเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้ เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่กำลังจะเปลี่ยนไปในอนาคต ทั้งการเพาะปลูก และการปรับปรุงพันธุ์ ภายใต้แนวคิดที่เป็นมิตรต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ

การเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูก “ต้นคูณม่วง” จำนวน 1 ต้น ณ จุดทรงงานที่ ๖ อาคารรัตนเกษตร ศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ในการนี้นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมคณะทำงานกรมวิชาการเกษตรเข้าร่วมเฝ้ารับเสด็จ พร้อมกราบบังคมทูลรายงานการจัดการแปลงไม้ผลเศรษฐกิจ และแปลงกาแฟ และความคืบหน้าในการดำเนินงานของกรมวิชาการเกษตร บนพื้นที่ปลูกไม้ผลและกาแฟ 8 แปลง ประกอบไปด้วย แปลงที่1 ปลูกมังคุด จากต้นเพาะเมล็ด และเสียบยอด แปลงที่ 2 ปลูกมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ แปลงที่ 3 ปลูกขนุนพันธุ์การค้า เช่น ทองประเสริฐ ทวายปีเดียว เหลืองระยอง แปลงที่ 4 ปลูกลองกอง และ มะม่วงพันธุ์การค้า เช่น เขียวเสวย อกร่องทอง ทองดำ แปลงที่ 5 ปลูกเงาะพันธุ์ โรงเรียน สีชมพู และ น้ำตาลกรวด แปลงที่ 6 ปลูกทุเรียนพันธุ์การค้า เช่น หมอนทอง ชะนี ก้านยาว และพวงมณี แปลงที่ 7 ปลูกกาแฟโรบัสต้ายางพาราเดิมแปลงที่ 8 ปลูกกาแฟร่วมกับมะม่วงหิมพานต์เดิม รวมเป็นพื้นที่ปลูกทั้งสิ้นจำนวน 25 ไร่

รวมถึงมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับประชาชนผู้สนใจ เกษตรกร นักวิจัย นักศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดาเกี่ยวกับ ทฤษฎีการผลิตทุเรียน การจำแนกพันธุ์ทุเรียน ฝึกปฎิบัติขยายพันธุ์ทุเรียนด้วยการ เสียบยอด และการจัดการทุเรียนในสภาพแปลง เป็นต้น ส่วนแนวทางการดำเนินงานในระยะถัดไป

กรมวิชาการเกษตรเตรียมแผนการดำเนินงาน “เกษตรนวัต วังจันทร์ Model” การผลิตไม้ผล และพืชยืนต้นคาร์บอนต่ำ เพื่อรับรองคาร์บอนเครดิตภายใต้ มาตรฐานการผลิตพืช (GAP Carbon Credit Plus) ตามหลักการจัดการ คือ ลดการใช้สารเคมี ใช้สารชีวภัณฑ์ เกษตรแม่นยำ ซึ่งปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรมีผู้ประเมินภายนอกสำหรับโครงการภาคสมัครใจ (Validation and Verification Body: VVB) ที่ผ่านการอบรม รอเข้าดำเนินการเก็บข้อมูลและพัฒนาโครงการ เพื่อขอรับรองคาร์บอนเครดิต ในพื้นที่ปลูกไม้ยืนต้นของศูนย์เรียนรู้ กับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) อยู่ในขณะนี้