นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากการที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ จ.หนองคาย เพื่อ ติดตามประเด็นปัญหาการส่งออก ขั้นตอนพิธีการศุลกากร การค้าชายแดน และการพัฒนา One Stop Service ระหว่างราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน สอดรับกับนโยบายของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นโยบายการสร้างรายได้ สร้างโอกาสและสร้างคุณภาพชีวิตโดยใช้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ที่กรมวิชาการเกษตร ต้องนำไปสู่การปฏิบัติ โดยเน้นการบริหารจัดการภาคเกษตรที่ครบถ้วนทุกด้าน ตั้งแต่ดิน น้ำ พันธุ์พืช นวัตกรรม รวมถึง การประกาศสงครามกับปุ๋ย และเคมีเกษตรปลอม กรมวิชาการเกษตร ต้องมีอุปกรณ์ห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย สามารถให้บริการตรวจสอบรับรองที่ฉับไว ห้องปฏิบัติการแห่งอนาคต “DOA Future Lab” จึงเป็นการยกระดับเทคโนโลยีนวัตกรรม ห้องปฏิบัติการที่ล้ำสมัยของกรมวิชาการเกษตรทั่วประเทศ ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขัน ลดปัญหา และอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ
วันที่ 30 ตุลาคม 2566 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารตรวจสินค้าเกษตรและงานตรวจสอบโรคและแมลงศัตรูพืช เพื่อยกระดับมาตรฐานการทำงานให้มีความสามารถในการตรวจสอบศัตรูพืช สารพิษตกค้าง รวมถึงการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ณ ด่านตรวจพืชหนองคาย ซี่งด่านตรวจพืชหนองคาย มีภารกิจในการควบคุม กำกับ ดูแล สินค้าพืช ผลผลิตพืช และปัจจัยการผลิตทางการเกษตร โดยอาศัยกฎหมาย ควบคู่กับหลักวิชาการ ในการให้บริการ ส่งออก นำเข้า และนำผ่าน ตามพระราชบัญญัติ ที่ยู่ภายใต้การควบคุมกำกับของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ พระราชบัญญัติกักพืช พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พระราชบัญญัติปุ๋ย พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย และพระราชบัญญัติควบคุมยาง
ด่านตรวจพืชหนองคาย มีการทำงานแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ศุลกากร สรรพสามิต อาหารและยา กักกันสัตว์ ประมง และ ป่าไม้) ให้บริการประชาชน ภาครัฐ เอกชน ในการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชเพื่อการส่งออก แบบอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบ e-Phyto โดยมีการพัฒนาเชื่อมโยงระบบ e-Phyto กับระบบของจีน เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการออกระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชถึงกันได้โดยตรงในอนาคต เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ อำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ และการค้าชายแดน เพื่อรองรับการขยายตัวทางการค้า สร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางการค้า รวมถึงพัฒนาระบบให้บริการออกใบรับรอง ให้เชื่อมโยงระบบ National Single Window : NSW ซึ่งเป็นระบบที่เชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ สำหรับการนำเข้า นำผ่าน และโลจิสติสก์ ให้ดำเนินงานสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป พัฒนางานด้านกักกันพืชไปสู่สากล รวมถึงให้เกิดความมั่นใจ พึงพอใจ ของผู้ใช้บริการ ส่งออก นำเข้า และนำผ่าน ราชอาณาจักรไทยให้เป็นไปได้ด้วยดี
ปัจจุบันการค้าชายแดนในเขตภูมิภาคนี้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อยู่ติดริมแม่น้ำโขง ตรงข้ามกับนครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีการเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมที่ส่งผลให้ประเทศไทย และ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางบก เชื่อมต่อไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เมืองโม่ฮาน ยูนาน คุนหมิง ส่งผลให้เกิดการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตร ปี 2565 ได้มีการเปิดใช้เส้นทางรถไฟสายไทย ลาว จีน อย่างเป็นทางการ ทำให้ไทยสามารถส่งออกไปยังจีนได้อีกช่องทางหนึ่ง ตามพิธีสาร ว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรค ตรวจสอบสำหรับการส่งออก นำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สาม ระหว่างไทย และ สาธารณรัฐประชาชนจีน (General Administration of Customs of the People’s Republic of China : GACC) โดยกำหนดให้เพิ่มด่านตรวจพืชหนองคาย เป็นด่านทางบกตามพิธีสารฯ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรจะผลักดันให้มีการส่งออกสินค้าเกษตรที่ด่านตรวจพืชหนองคายให้มีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี