ให้การต้อนรับปลัดกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น (MAFF) ด้านการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ให้การต้อนรับนายเรียวสุเกะ โอกาวะ (Mr. Ryossuke Ogawa) ปลัดกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น (MAFF) ด้านการต่างประเทศ ณ ห้องรับรอง ชั้น 2 สำนักงานอธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมทั้งหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับระบบการคุ้มครองพันธุ์พืชของไทย รวมทั้งความร่วมมือระดับพหุภาคีในโครงการคุ้มครองพันธุ์พืชเอเชียตะวันออก (The East Asia Plant Variety Protection Forum: EAPVPF) เป็นเวทีให้สมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ในการดำเนินการเกี่ยวกับการให้การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ให้เกิดประโยชน์ร่วมกันภายในภูมิภาค และความร่วมมือระดับทวิภาคีในความร่วมมือภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (Japan – Thailand Economic Partnership Agreement: JTEPA) และการประชุมหารือระดับสูงด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ระหว่างไทย – ญี่ปุ่น (Japan – Thailand High – Level Cooperation Dialoque on Agricultural and Food Industries: HLCD) เพื่อเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือในด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร โดยมีประเด็นหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นที่เน้นเกี่ยวกับระบบการคุ้มครองพันธุ์พืชของประเทศไทย (การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่) ระบบการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ของญี่ปุ่น และความร่วมมือในการจัดตั้งคณะทำงานร่วม (Bilateral Study Group) เพื่อเป็นเวทีในการหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ทางวิชาการเพื่อพัฒนาระบบการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ของทั้งสองประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ในด้านการค้าพันธุ์พืชและผลผลิตทางการเกษตรระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยอธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้ให้ข้อเสนอกับทางญี่ปุ่นว่า การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ในภูมิภาคให้เข้มแข็งและมีมาตราฐานเดียวกัน สามารถผลักดันได้ในหลายช่องทาง อาทิ การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน

ด้านการเกษตรและป่าไม้ (Senior Officials Meeting of the ASEAN Ministers on Agriculture and Forestry: SOM-AMAF) และการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three: APT) เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมการร่วมมือด้านความเชื่อมโยงของการคุ้มครองพันธุ์พืชในระดับภูมิภาค

สำหรับประเด็นการเปิดตลาดสินค้าเกษตรจากประเทศไทยไปยังประเทศญี่ปุ่นนั้น ปัจจุบัน ประเทศญี่ปุ่นได้อนุญาตนำเข้าส้มโอพันธุ์ทองดีจากประเทศไทยแล้ว อธิบดีกรมวิชาการเกษตรจึงได้ผลักดันให้ญี่ปุ่นอนุญาตการนำเข้าส้มโอทุกสายพันธุ์จากประเทศไทย แทนการอนุญาตนำเข้าทีละพันธุ์