นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่าตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการฟื้นฟูรายได้ ดูแลค่าใช้จ่ายประชาชน ซึ่ง ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดนโยบายของกระทรวงเกษตรให้สอดคล้อง กับนโยบายของนายกรัฐมนตรี ในการตั้ง GDP ให้มีเป้าหมายต้องสามารถเพิ่มรายได้ให้พี่น้องเกษตรกร 3 เท่า ในระยะเวลา 4 ปี การลดรายจ่ายของเกษตรกร โดยการนำสารนวัตกรรมใหม่ ที่เป็นวัตถุอันตราย ที่มีสูตร และความเข้มข้นที่แตกต่างจากวัตถุอันตรายที่เคยได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยแล้ว ซึ่งสูตร ความเข้มข้นใหม่นั้นมีการศึกษา ทดลองใช้ จนได้สารที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยสูง ส่งผลให้ปริมาณการใช้ในอัตราที่น้อยลง เมื่อเทียบกับวัตถุอันตรายเดิม แต่ประสิทธิภาพในการควบคุมศัตรูพืชยังคงเท่ากับสารเดิม นวัตกรรมนี้ทำให้เกษตรกรใช้วัตถุอันตรายลดลง เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการลดการนำเข้าวัตถุอันตรายของประเทศอีกทางหนึ่งด้วย
สอดรับกับนโยบายของ รมว.เกษตรฯ ที่ได้มอบให้กับกรมวิชาการเกษตร ในเรื่องการประกาศสงครามกับปุ๋ย และเคมีเกษตรปลอม ทำสงครามกับศัตรูพืชในการก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 6 กรมวิชาการเกษตร ต้องมีอุปกรณ์ห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย สามารถให้บริการตรวจสอบรับรองที่ฉับไว ห้องปฏิบัติการแห่งอนาคต “DOA Future Lab” จึงเป็นการยกระดับเทคโนโลยีนวัตกรรม ห้องปฏิบัติการที่ล้ำสมัยของกรมวิชาการเกษตรทั่วประเทศ ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ให้ได้มาตรฐานระดับสากล เป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงระดับประเทศ และระดับนานาชาติ
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว่า กรมวิชาการเกษตร ได้ยกเลิกประกาศกรมวิชาการเกษตร “เรื่อง ยกเลิกประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง กำหนด รายละเอียด หลักเกณฑ์ และวิธีการขึ้นทะเบียน การออกใบสำคัญ และการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตร เป็นผู้รับผิดชอบ และประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง กำหนดอัตราความเข้มข้นในแต่ละสูตรของวัตถุอันตรายที่รับขึ้นทะเบียน พ.ศ. 2566 และระเบียบกรมวิชาการเกษตร ว่าด้วยการยกเลิกระเบียบกรมวิชาการเกษตร ว่าด้วยการตรวจเอกสารข้อมูลประกอบการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ พ.ศ. 2553 และระเบียบกรมวิชาการเกษตรว่าด้วยการตรวจสอบเอกสารข้อมูลประกอบการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 พ.ศ. 2556” ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัย ให้ความเห็น ตาม พ.ร.บ วัตถุอันตราย ปี 2535 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 ที่เกี่ยวกับการขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ ต้องกำหนดสาระสำคัญ และหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนโดยไม่สามารถมอบอำนาจให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรออกประกาศได้ ดังนั้นประกาศกรมวิชาการเกษตรและระเบียบกรมวิชาการเกษตรที่เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนในปัจจุบันไม่ชอบด้วยกฎหมายในการพิจารณาการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย สำนักควบคุมพืชและวัสดุทางการเกษตร จึงได้จัดทำคู่มือการขอขึ้นทะเบียน การต่ออายุ และการแก้ไขรายการในใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย เพื่อให้ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายสามารถใช้เป็นแนวทางในการขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายต่อไป
นายเสกสรรค์ วรรณกรี ผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กล่าวว่า เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถซักถามข้อสงสัย เกี่ยวกับแนวทางการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายดังกล่าว กรมวิชาการเกษตร จึงได้จัดการประชุมหารือชี้แจงแนวทางการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย ภายใต้ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง “การขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย การออกใบสำคัญ และการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียน วัตถุอันตรายทางการเกษตร พ.ศ. 2551” ขึ้น ณ ห้องประชุม พระพรหม ชั้น 3 โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนจำนวนกว่า 250 ท่าน ซึ่งประกาศกรมวิชาการเกษตรนั้นจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้สารนวัตกรรมใหม่ ทั้งสารเคมีสังเคราะห์ สารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช สารสกัดจากพืชเพื่อกำจัดศัตรูพืช ให้สามารถขึ้นทะเบียนได้ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถขอคำแนะนำ และข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่กลุ่มควบคุมวัตถุอันตราย สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร 02-579-7986 หรือ ardpesti@doa.in.th
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า การประชุมชี้แจงแนวทางการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย จะทำให้เกษตรกรได้ใช้วัตถุอันตรายที่เป็นสารนวัตกรรมใหม่ๆ มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยสูง ทำให้ลดต้นทุนในการผลิต และเกิดความมั่นคงด้านอาหาร (Food security) ในอนาคต อันเป็นปัจจัยสำคัญของการเร่งนำนวัตกรรมใหม่ทางการเกษตรสู่เกษตรกรไทยอย่างรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ และการรักษาความสามารถทางการแข่งขันของภาคเกษตรไทยในตลาดโลก
นอกจากนี้ทางภาครัฐ และภาคเอกชนต้องร่วมกันขับเคลื่อนด้านนวัตกรรมสู่เกษตรกรทั้งในด้านการขยายการฝึกอบรมการใช้สารกำจัดศัตรูพืชทางการเกษตรด้วยอากาศยาน (โดรนเกษตร) การขยายร้านค้าปัจจัยการผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Q- Shop การเพิ่มผลิตภาพโดยมีการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการรักษาคุณภาพดิน ตามที่ “รมว เกษตรฯ ได้ให้นโยบายในการขับเคลื่อนโครงการที่สำคัญของกรมวิชาการเกษตรต่อไป