เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดผลิตผลทางการเกษตร และทอดพระเนตรการจัดนิทรรศการในงานวันลองกองประจำปี 2566 ครั้งที่ 46 ณ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ในโอกาสนี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เฝ้ารับเสด็จ ในส่วนของกรมวิชาการเกษตรได้จัดแสดงนิทรรศการในงานของดีเมืองนรา ครั้งที่ 46 เรื่อง เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีมือปราบโรครากเน่า และโคนเน่าในทุเรียน ทุเรียนชายแดนใต้
1. “ทุเรียนทรายขาว” ทุเรียน GI จังหวัดปัตตานี GI ลำดับที่ 199 เนื้อสีเหลือง แห้ง ไม่เละ เนื้อละเอียดเหมือนเนื้อครีม ไม่เป็นเส้น รสชาติหวานมัน กลมกล่อม กลิ่นหอม ไม่ฉุน เมล็ดลีบ มีเอกลักษณ์เฉพาะ แหล่งปลูก : พื้นที่ ตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
2.“ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา” ทุเรียน GI จังหวัดยะลา GI ลำดับที่ 194 ทุเรียนมีรสชาติหวานมัน มีกลิ่นเฉพาะตัว เนื้อแห้งละเอียด เนื้อมีสีเหลืองอ่อนหรือเข้มตามแต่ละสายพันธุ์ แหล่งปลูก : พื้นที่ตามไหล่เขา สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 100 เมตร ขึ้นไป ในพื้นที่ จังหวัดยะลา
3. “ทุเรียนบางนรา” ทุเรียน GI จังหวัดนราธิวาส (อยู่ระหว่างยื่นขอจดทะเบียน GI) มีรสชาติที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ หอมนุ่ม มีกลิ่นอ่อนๆ หวานกำลังดี แหล่งปลูก : พื้นที่ที่เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำที่มีสายแร่ทองธรรมชาติไหลผ่านมาจากภูเขาทองในเขต อ.สุคิริน ทำให้เกิดแม่น้ำ 2 สาย คือแม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำโก-ลก และอำเภอในจังหวัดนราธิวาสที่แม่น้ำดังกล่าวไหลผ่าน เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีมือปราบโรครากเน่าและโคนเน่าในทุเรียน พบครั้งแรกในประเทศไทย โดย ศ.ดร.วีระศักดิ์ ศักดิ์ศิริรัตน์ และคณะ เมื่อปี พ.ศ. 2544 ในพื้นที่ของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ที่หมู่บ้านโคกภูตากา อำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น ต่อมาเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานโครงการ อพ.สธ. ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเห็ดเรืองแสงชนิดนี้ว่า “เห็ดสิรินรัศมี” เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี มีชื่อวิทยาศาสตร์ : Neonothopanus nambi (Speg.) R.H. Petersen & Krisai มีลักษณะคล้ายเห็ดนางรมแต่จัดเป็นเห็ดพิษ ในสภาพกลางวัน ก้าน ดอก และครีบมีสีขาว แต่เมื่ออยู่ในสภาพกลางคืน หรือไม่มีแสงแดด เห็ดจะเปล่งแสงสีเขียวอมเหลือง มีสาร aurisin A ไปยับยั้งการสร้างเส้นใย และการสร้างสปอร์หรือส่วนขยายพันธุ์ (sporangium) ของเชื้อราไฟทอปธอร่า
ข้อดีของเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี
1. มีประสิทธิภาพสูง ทดแทนการใช้สารเคมีได้
2. มีความปลอดภัยสูงต่อมนุษย์ สัตว์ สิ่งแวดล้อม และไม่มีพิษตกค้าง
3. เกษตรกรสามารถนำไปผลิตขยายใช้เองได้
4. ลดต้นทุนในการผลิตพืช
5. ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร
6. มีอายุการเก็บรักษาได้นานถึง 12 เดือน ที่อุณหภูมิห้อง โดยสภาพก้อนไม่ย่อยสลาย
7. ชีวภัณฑ์เห็ดเรืองแสงมีความคงทนสามารถเจริญและสร้างสารในดินได้เป็นเวลานาน ซึ่งต่างจากสารเคมีที่มีการเสื่อมและไม่คงทน
ข้อจำกัดของเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี
1. อัตราและวิธีการใช้แตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดพืชและความเหมาะสมของพื้นที่
2. ควรเก็บให้พ้นแสงแดด การขับเคลื่อนเทคโนโลยีการผลิต ขยายเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีพร้อมใช้เพื่อควบคุมโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน ภายใต้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ดำเนินการในพื้นที่ จังหวัด นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา พัทลุง และตรัง จำนวน 7 ศพก. เพื่อนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมจากงานวิจัยถ่ายทอดสู่เกษตรกรหรือกลุ่มเป้าหมายเพื่อนำไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุเรียน และควบคุมโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน
ผลการดำเนินงาน/การยอมรับเทคโนโลยีของเกษตรกรแปลงต้นแบบ
• เกษตรกรแปลงต้นแบบให้ความสนใจ และยินยอมให้นำสารชีวภัณฑ์เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี ไปใช้ในการควบคุมโรครากเน่าโคนเน่าในแปลงเป็นอย่างดียิ่ง เพราะสามารถลดต้นทุนการใช้สารเคมี อีกทั้งไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม
• การใช้เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีเพื่อควบคุมโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน มีต้นทุน 500 บาท/ไร่/ปี ขณะที่การใช้สารเคมีต้นทุนเฉลี่ย 1,800 บาท/ไร่/ปี จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับเกษตรกรที่ต้องการลด ละ เลิกการใช้สารเคมี เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม
วิธีวัดความอ่อนแก่ทุเรียนโดยวัดน้ำหนักแห้งเป็นวิธีการหนึ่ง ในการจำแนกความอ่อนแก่ของทุเรียน เพื่อประโยชน์ทางการค้าโดยเฉพาะการส่งออก โดยดำเนินการ ดังนี้
1. นำผลทุเรียนผ่าตามแนวขวางส่วนกลางผล หั่นเป็นแว่นหนาชิ้นละ 2.5 เซนติเมตร
2. ตัดเนื้อจากทุกพู หั่น/สับเป็นชิ้นเล็กๆ คลุกเคล้ารวมกัน หรือใช้เครื่องปั่นอาหารแบบมือดึง และปั่นให้ละเอียด
3. อบจานกระดาษเพื่อไล่ความชื้นโดยใช้เตาอบไมโครเวฟ จนน้ำหนักคงที่ และบันทึกน้ำหนักจานกระดาษไว้
4. ชั่งเนื้อทุเรียน 10 กรัม ต่อผล และเกลี่ยเนื้อทุเรียนในจานกระดาษให้มีความหนาสม่ำเสมอกัน อบด้วยเตาอบไมโครเวฟที่ระดับความร้อนต่ำ (Low 300 – 450 วัตต์ อุณหภูมิ 72 – 74 องศาเซลเซียส) นานครั้งละ 2 – 3 นาที อบและชั่งน้ำหนักจนกระทั่งน้ำหนักตัวอย่างคงที่ (เนื้อทุเรียนต้องไม่ไหม้)
5. บันทึกน้ำหนัก และคำนวณน้ำหนักแห้งจากสูตรคำนวณ ดังนี้ น้ำหนักหลังอบ (กรัม) = น้ำหนักสุดท้ายหลังอบ – น้ำหนักจานกระดาษ เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งของเนื้อทุเรียน (%) = น้ำหนักหลังอบ (กรัม) x 100 น้ำหนักก่อนอบ (กรัม) เกณฑ์กำหนดน้ำหนักเนื้อแห้งตามมาตรฐานสินค้าเกษตร ทุเรียน มกษ. 3 – 2556
– พันธุ์หมอนทอง มีน้ำหนักเนื้อแห้งขั้นต่ำ 32%
– พันธุ์ชะนี, พวงมณี มีน้ำหนักเนื้อแห้งขั้นต่ำ 30%
– พันธุ์กระดุมทอง มีน้ำหนักเนื้อแห้งขั้นต่ำ 27%