นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในปี 2566 กรมวิชาการเกษตรได้ส่งผลงานเรื่อง “การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุเรียนด้วยเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ” ของสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร เข้ารับการพิจารณาเพื่อรับรางวัลเลิศรัฐ จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ซึ่งได้มีการประกาศผลการพิจารณารางวัลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่าผลงาน “การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุเรียนด้วยเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ” ได้รับรางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ ประเภทพัฒนาการบริการ ซึ่งผลงานดังกล่าวดังกล่าวได้นำเทคโนโลยี Smart Sensors และระบบ IoTs มาประยุกต์ใช้ร่วมกับการบูรณาการองค์ความรู้ตลอดกระบวนการการผลิตพืชของกรมวิชาการเกษตร รวมทั้งของหน่วยงานภายในและต่างประเทศ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
การดำเนินงาน “การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุเรียนด้วยเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ”ภายใต้แนวทาง “รูปแบบ (Model) การเกษตรอัจฉริยะเพื่อการผลิตพืช ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ทั้ง 8 ด้าน ประกอบด้วย เทคโนโลยีด้านดิน เทคโนโลยีด้านพืชและอารักขาพืช เครื่องจักรกลการเกษตร การใช้น้ำ เทคโนโลยีดาวเทียมและอากาศยานไร้คนขับ อินเตอร์เน็ต และระบบช่วยตัดสินใจการผลิตพืช มายกระดับกระบวนการผลิตทุเรียน เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต ตลอดจนการใช้ทรัพยากรในการผลิตพืชให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านการตรวจวัดจากเซนเซอร์ทางการเกษตร ประมวลผล และควบคุมอัตโนมัติในการผลิต ตลอดจนการพัฒนาแอปพลิเคชันที่รองรับการทำการเกษตรให้กับเกษตรกร สำหรับการขยายผลเชิงพื้นที่ และเป็นต้นแบบการพัฒนาสู่พืชชนิดอื่นต่อไป
นายสิริชัย สาธุวิจารณ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กล่าวว่า เกษตรอัจฉริยะเป็นแนวคิดการบริหารจัดการทางการเกษตรให้มีประสิทธิภาพด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้งานอย่าง ซึ่งข้อมูลที่ได้จะถูกนำมาประมวลผล สำหรับการวางแผนการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภายในสวน และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของทุเรียนไทย โดยบูรณาการในส่วนขององค์ความรู้การผลิตพืชในทุกสาขาวิชาร่วมกับความรู้ด้านวิศวกรรมการเกษตรและองค์ความรู้ด้าน it เพื่อนำมาสู่ในเรื่องของเทคโนโลยี เป็นกระบวนการการผลิต ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ
ผลการดำเนินงานทำให้ได้แปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะทุเรียน สำหรับเป็นสถานที่ศึกษาดูงานของเกษตรกรและเป็นแปลงวิจัยเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะในทุเรียนแบบเกษตรกรมีส่วนร่วม จำนวน 2 แปลง ณ อ.นายายอาม และ อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี แอปพลิเคชันควบคุมระบบการให้น้ำทุเรียนผ่าน smartphone สามารถควบคุมการปิด-เปิดปั๊มน้ำ ควบคุมการปิด-เปิดโซลินอยด์วาล์วของประตูน้ำภายในสวนทุเรียน Dashboard การผลิตทุเรียน ที่แสดงค่าสถานะต่างๆ ภายในแปลงปลูก เช่น ระยะการเจริญเติบโตและการพัฒนาของทุเรียน ข้อมูลสภาพอากาศ คำแนะนำการดูแลรักษาทุเรียน ด้านการจัดการศัตรูพืช ธาตุอาหารพืช น้ำ สถานะการทำงานของอุปกรณ์เซนเซอร์ทางการเกษตรภายในแปลง รวมถึงการบันทึกกิจกรรมภายในแปลงปลูก
รวมทั้งยังได้แอปพลิเคชัน RainReport ที่สามารถรายงานการพยากรณ์การตกของฝนและสภาพอากาศภายในแปลงปลูกแบบระบุพิกัด ล่วงหน้า 2 วัน สำหรับใช้วางแผนการบริหารจัดการแปลงปลูก ที่รองรับการทำงานของโทรศัพท์ในระบบ Android และการใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับเพื่อสำรวจการเข้าทำลายของศัตรูพืชและการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบแม่นยำเฉพาะจุด
“การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุเรียนด้วยเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะทำให้เกษตรกรมีข้อมูลสภาพแวดล้อมภายในแปลงปลูก สำหรับประกอบการตัดสินใจในการบริหารจัดการแปลง เพื่อลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มีผลต่อการผลิต ซึ่งเทคโนโลยีที่ติดตั้งเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการทำงานให้กับเกษตรกรได้ง่ายขึ้น การนำเทคโนโลยีไปใช้ในการควบคุมการให้น้ำ (ปิด-เปิด) สามารถลดการใช้แรงงานคนได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และลดระยะเวลาการทำงานได้มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ขณะนี้ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุเรียนให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้สนใจ จากการฝึกอบรม และการศึกษาดูงาน ณ แปลงเรียนรู้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะทุเรียน จำนวนมากกว่า 1,800 คน และนำไปขยายผลในโครงการ 1 อำเภอ 1 แปลงเกษตรอัจฉริยะด้วย” นายสิริชัย กล่าว