นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่จังหวัดหนองคาย เตรียม One Stop Service เพิ่มจุดตรวจหนองคาย ส่งเสริมอำนวยความสะดวก การค้าชายแดน เตรียมขยายการนำเข้าโปแตซ จากลาว

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดหนองคาย โอกาสนี้ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมลงพื้นที่ติดตาม พูดคุยกับ นักธุรกิจภาคเอกชน ประเด็นการขนส่งสินค้าจากประเทศไทยไปยังประเทศจีน และ พบปะพูดคุยกับผู้ประกอบการส่งออก ในขั้นตอนพิธีการศุลกากร การค้าชายแดน การพัฒนา One Stop Service ระหว่าง ไทย ลาว จีน โดยมี นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วย ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง ดร.วิลาวัณย์ ใคร่ครวญ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้การต้อนรับ

​ด่านตรวจพืชหนองคาย มีการทำงานแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ศุลกากร สรรพสามิต อาหารและยา กักกันสัตว์ ประมง และ ป่าไม้) ให้บริการประชาชน ภาครัฐ เอกชน ในการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชเพื่อการส่งออก แบบอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบ e-Phyto โดยมีการพัฒนาเชื่อมโยงระบบ e-Phyto กับระบบของจีน เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการออกระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชถึงกันได้โดยตรงในอนาคต เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ อำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ และ การค้าชายแดน โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ที่จะมีการขยายการนำเข้า โปแตส จากประเทศลาว มากขึ้นกว่าปีละ 500,000 ตัน ซึ่งกรมวิชาการเกษตรจะเตรียมความพร้อมสำหรับห้องปฏิบัติการตรวจสอบปุ๋ยโปแดสที่ด่านตรวจพืช

ด่านตรวจพืชหนองคาย มีภารกิจในการควบคุม กำกับ ดูแล สินค้าพืช ผลผลิตพืช ปัจจัยการผลิตทางการเกษตร โดยอาศัยกฎหมาย ควบคู่กับหลักวิชาการ ในการให้บริการ ส่งออก นำเข้า นำผ่าน ตามพระราชบัญญัติที่อยู่ภายใต้การควบคุมกำกับของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ พระราชบัญญัติกักพืช พระราชบัญญัติพันธุ์พืช, พระราชบัญญัติปุ๋ย พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย และ พระราชบัญญัติควบคุมยาง ปัจจุบันการค้าชายแดนในเขตภูมิภาคนี้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อยู่ติดริมแม่น้ำโขง ตรงข้ามกับนครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีการเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมที่ส่งผลให้ประเทศไทย และ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางบก เชื่อมต่อไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เมืองโม่ฮาน ยูนาน คุนหมิง ส่งผลให้เกิดการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตร ปี 2565 ได้มีการเปิดใช้เส้นทางรถไฟสายไทย ลาว จีน อย่างเป็นทางการ ทำให้ไทยสามารถส่งออกไปยังจีนได้อีกช่องทางหนึ่ง ตามพิธีสาร ว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรค ตรวจสอบสำหรับการส่งออก นำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สาม ระหว่างไทย และ สาธารณรัฐประชาชนจีน (General Administration of Customs of the People’s Repubilc of China : GACC) โดยกำหนดให้เพิ่มด่านตรวจพืชหนองคาย เป็นด่านทางบกตามพิธีสารฯ ส่งผลให้มีสินค้าเกษตรส่งออกที่ด่านตรวจพืชหนองคาย สูงถึง 48,032.23 ตัน มูลค่า 6,955.04 ล้านบาท

ในโอกาสนี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้พบปะหารือกับ Mr. Liu Hongmei กงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำจังหวัดขอนแก่น ถึงคุณภาพสินค้าเกษตรไทย ส่งออกไปยังประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกทุเรียน ซึ่งกรมวิชาการเกษตร และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีมาตรการตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตรอย่างเป็นระบบ อีกทั้ง ยังได้พบกับผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเกษตร เพื่อติดตามมาตรการคุมเข้ม การส่งออกทุเรียนไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ระยะหลังที่มีการแพร่ระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน กรมวิชาการเกษตรประชุมหารือในระดับนโยบาย เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน (Mudaria luteilprosa) ที่มีผลกระทบต่อการส่งออกไปจีน วันที่ 30 สิงหาคม 2566 ได้กำหนดให้มีมาตรการคัดกรอง 4 ชั้น เพื่อลดความเสี่ยงจากแปลงเกษตรกร จนถึงกระบวนการส่งออก อธิบดีกรมวิชาการเกษตรมอบหมายให้ ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และ ผอ.สวพ.7 สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจอ่อนแก่ทุเรียน เข้าตรวจกระบวนการคัดกรองผลผลิตทุเรียน ที่มาจากพื้นที่จังหวัดยะลา และ นราธิวาส เพื่อป้องกันหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่จะติดไปกับผลผลิตเพื่อการส่งออกไปจีน ตามมาตรการขั้นที่ 2 โดยให้โรงคัดบรรจุที่รับผลผลิตทุเรียนมาจากพื้นที่เสี่ยง เพิ่มขั้นตอนการบ่มทุเรียนแยกกองตามแหล่งที่มา เป็นเวลา 48 ชั่วโมง หลังจากป้ายขั้ว แล้วคัดละเอียดทุกผลก่อนบรรจุลงกล่อง หากพบหนอนให้คัดผลผลิตแยกออกจากบริเวณคัดบรรจุพร้อมติดป้ายบ่งชี้ และ มีมาตรการในการจัดการผลผลิตและทำลายหนอน ตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2566 เป็นต้นมา ทำให้โรงคัดบรรจุมีกระบวนการคัดกรองผลผลิตทุเรียนสำหรับการส่งออกเข้มงวดมากขึ้น

กรมวิชาการเกษตรนำมาตรการกรอง 4 ชั้น เป็นแนวทางปฏิบัติงาน ในการตรวจ รับรองสุขอนามัยพืชตามพิธีสารส่งออกผลไม้ ระหว่างไทย-จีน ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ ชั้นที่ 1 การคัดทุเรียนจากสวน ต้องตัดผลที่สุกแก่ และ บ่มอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ก่อนนำมาส่งขายให้โรงคัดบรรจุ ชั้นที่ 2 การบ่มทุเรียนที่โรงคัดบรรจุ ต้องคัดทุเรียนที่มีหนอนติดมาโดยการบ่มแยกกองเป็นเวลา 48 ชั่วโมง แล้วกำจัดหนอน ชั้นที่ 3 เพิ่มเปอร์เซ็นต์การสุ่มตรวจ ณ โรงคัดบรรจุ จากเดิมสุ่มตรวจที่ 3% เป็น 5% ชั้นที่ 4 เพิ่มขั้นตอนการสุ่มตรวจ และ กำหนดแนวทางการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช ณ ด่านตรวจพืชปลายทาง เพิ่มเติมการบูรณาการร่วมกันกับกรมศุลกากร หน่วยงานในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกการตรวจสอบนำเข้า ส่งออก ร่วมกัน

ผลการปฏิบัติงานหน้าด่านตรวจพืช ที่มีการส่งออกทุเรียนทั้งประเทศในระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม 2566 ถึงวันที่ 6 กันยายน 2566 ภายหลังที่ได้นำมาตรการกรอง 4 ชั้น มีการส่งออกทั้งหมด 996 ชิปเม้นท์/ตู้ ตรวจพบศัตรูพืช/ส่งกลับโรงคัดบรรจุ 65 ชิปเม้นท์/ตู้ และ ตรวจไม่พบศัตรูพืช/ออกใบรับรองสุขอนามัยพืช 931 ชิปเม้นท์/ตู้ ผลการดำเนินงาน พบหนอนที่หน้าด่านลดลงอย่างชัดเจน จากเกือบ 10 % เหลือเพียง 1% ประกอบกับผู้ส่งออกได้ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อย่างดี ทำให้การตรวจพบศัตรูพืชในตู้สินค้าลดน้อยลง และยังไม่มีการส่งกลับเพิ่มเข้ามา ลดการสูญเสียทางการค้า และรักษาความเชื่อมั่นในภาพลักษณ์ “ทุเรียนไทย ทุเรียนคุณภาพ” ในสายตาผู้บริโภคชาวจีน

เพื่อรองรับการขยายตัวทางการค้า สร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางการค้า ให้การดำเนินงานสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป พัฒนางานด้านกักกันพืชไปสู่สากล รวมถึงให้เกิดความมั่นใจ พึงพอใจ ของผู้ใช้บริการ ส่งออก นำเข้า และนำผ่าน ราชอาณาจักรไทย ให้เป็นไปด้วยดี รวมถึงพัฒนาระบบให้บริการออกใบรับรอง ให้เชื่อมโยงระบบ National Single Window : NSW ซึ่งเป็นระบบที่เชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ สำหรับการ นำเข้า นำผ่าน และ ระบบโลจิสติกส์ ให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบ Logistic สถานีหนองคาย – สถานีนาทา ที่จะพัฒนาศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า ปรับเพิ่มขบวนรถสินค้าให้บริการข้ามไป สปป.ลาว ดันไทยเป็นฮับขนส่งอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง สนับสนุนการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ ให้มีการลงทุนต่อเนื่องผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย ทั้งนี้ กระบวนการ/ขั้นตอนตามพิธีการศุลกากรในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด่านตรวจพืช เมื่อตรวจสอบเอกสารครบถ้วน กรณีนำเข้าใช้ระยะเวลา 1 ชั่วโมง และ กรณีส่งออกใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที