รมว.เกษตรฯ ลงพื้นที่จ.นครศรีธรรมราชลุยแก้ปัญหาราคามังคุด

เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตร และตรวจติดตามงานตามนโยบาย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนาย ไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และนางสาวฉันทนา คงนคร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้การต้อนรับและรายงานข้อมูลการตรวจรับรองแปลง GAP มังคุด โรงคัดบรรจุ(ล้ง) และปริมาณการส่งออกมังคุดไปจีน

สถานการณ์การผลิตมังคุดในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชมีเกษตรกรผู้ปลูกมังคุด จำนวน 30,000 กว่าราย ผลผลิตในฤดูกาลรวมจำนวน 40,561 ตัน โดยผลผลิตแบ่งเป็น 2 รุ่น รุ่นที่ 1 (เดือนมิถุนายน-ต้นเดือนสิงหาคม) และรุ่นที่ 2 (ช่วงกลางเดือนสิงหาคม – เดือนตุลาคม) ปัจจุบันรุ่นที่ 2 เก็บเกี่ยวไปแล้วบางส่วน ซึ่งผลผลิตมังคุดยังคงเหลือในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชไม่เกิน 10,000 ตัน โดยผลผลิตดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นมังคุดภูเขา ในพื้นที่ อำเภอนบพิตำ อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอทุ่งสง อำเภอจุฬาภรณ์ และอำเภอลานสกา คาดการณ์ผลผลิตมังคุดในปี 2566 จำนวน 43,533 ตัน

สำหรับการรับรองแปลง GAP มังคุดในพื้นที่โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 กรมวิชาการเกษตรได้ให้การรับรองแล้วจำนวน 9,712 แปลง รวมเกษตรกรจำนวน 8,456 ราย สามารถใช้ ใบ GAP ส่งออกตามพิธีสารไทย-จีน ได้จำนวน 183,745 ตัน ซึ่งมากกว่าผลผลิตมังคุดจังหวัดนครศรีฯ อยู่ 4.4 เท่า ดังนั้นใบรับรอง GAP จึงมีจำนวนที่เพียงพอต่อการส่งออกมังคุดไปจีน ส่วนการรับรอง GMP โรงคัดบรรจุมังคุด (ล้ง) ได้ให้การรับรองแล้วจำนวน 88 ล้ง ปัจจุบัน (วันที่ 2 กันยายน 2566) มีล้งมังคุดเปิดทำการจำนวน 51 ล้ง

ส่วนปริมาณการส่งออกมังคุดส่งออกจีน (วันที่ 25 พฤษภาคม – 2 กันยายน 2566) ส่งออกแล้วรวม 2,016 ตู้ (ชิปเม้นท์) ปริมาณผลผลิตรวมประมาณ 40,230 ตัน ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตรมีแนวทางในการบริหารจัดการมังคุด โดยส่งเสริมผลักดันการผลิตมังคุดให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานส่งออก โดยมุ่งเน้นการพัฒนา เกษตรกร รายย่อย ที่ปลูกมังคุดตามธรรมชาติ ไม่ได้ดูแลรักษาและจัดการสวน ให้ถูกต้องเหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรขอการรับรอง GAP ด้วย

มาตรการแก้ไขปัญหา กรมวิชาการเกษตรจะสนับสนุนให้เกษตรกรปฏิบัติตามมาตรฐาน GAP เพื่อการผลิตมังคุดให้มีคุณภาพมากขึ้น สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้มากขึ้น ในปีนี้กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการตรวจให้รับรอง GAP มังคุดสูงกว่าเป้าหมาย ซึ่งเกินจากงบประมาณที่ได้ ตามนโยบายของอธิบดีกรมวิชาการเกษตรมุ่งเน้นการผลิตแบบ Thai Premium Fruit รวมทั้งอธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้ผลักดันเรื่องการส่งออกมังคุดไปญี่ปุ่นโดยไม่ต้องอบไอน้ำในการกำจัดแมลงวันผลไม้ได้สำเร็จซึ่งเป็นส่งเสริมการขยายตลาดมังคุดและเพิ่มช่องทางการจำหน่ายของผู้ประกอบการ นอกจากนี้กรมวิชาการเกษตรยังมีนโยบายเสวนาประชุมทำความเข้าใจกับเกษตรกรและผู้ส่งออกด้วย